วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax)


โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี โดยพบทำให้เกิดโรคในสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ และสุกร เป็นโรตติดต่อร้ายแรงโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 ปัจจุบันก็ยังมีรายงานของโรคนี้ในสัตว์ ในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย จังหวัดที่มักพบโรคมักอยู่ตามชายแดนรอยต่อระหว่างไทย-พม่า ไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา ในกรณีที่มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยไม่มีการกักเพื่อเฝ้าระวังโรค ในคนก็มีรายงานพบโรคอยู่เป็นระยะ ๆ
            โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า Bacillus anthracis เชื้อติดสี gram positive และมีการสร้างสปอร์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกได้ดี

การติดต่อของโรค
1.            คนติดโรคจากการสัมผัสสัตว์ป่วย หรือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สัตว์ที่มาจากสัตว์ป่วย
อาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Anthrax ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ คนที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ สัตวแพทย์ และพ่อค้าที่ชำแหละและขายเนื้อสัตว์ โดยผู้ที่สัมผัสจะมีวิการหรือรอยโรคที่ผิวหนังเป็นลักษณะของเนื้อตาย
2.            ในสัตว์ที่กินพืช จะได้รับระยะสปอร์ที่ปนเปื้อนอยู่ในดิน อาหาร น้ำ สัตว์ที่กินเนื้อจะ
ได้รับเชื้อจากการกินซากสัตว์ป่วยที่ตายด้วยโรคนี้ สปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์อาจปนเปื้อนอยู่ตามดิน หญ้า น้ำ หรือ บริเวณทุ่งหญ้าในพื้นที่ ๆ มีประวัติการระบาด
3.            การระบาดของโรคอาจเกิดจากการนำเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ตายจากโรคไป
ขายในพื้นที่อื่น ๆ นอกจากนี้นกหรือสัตว์อื่น ๆ ที่กัดกินสัตว์ หรือซากสัตว์ป่วยที่ตาย อาจเป็นตัวแพร่กระจายโรคไปสู่บริเวณอื่นได้
4.            ในคนอาจติดโรคโดยการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป โดยสปอร์ติดอยู่ตามฝุ่น
ละออง ขนสัตว์ หนังสัตว์ โดยวิธีนี้มีผู้นำมาใช้เป็นอาวุธทางชีวภาพ โดยมีรายงานของผู้ป่วยและเสียชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกาที่สงสัยว่าเชื้อแอนแทรกซ์มากับจดหมาย และทำให้ผู้รับเชื้อป่วยและตาย
5.            วิธีการติดโรคที่พบเป็นส่วนใหญ่ในคน ได้แก่ การกินอาหารที่ปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อที่
ปรุงไม่สุก โดยมากมักจะพบในเขตชนบท ที่เมื่อเวลาสัตว์ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่มีการชันสูตรซากสัตว์ โดยสัตวแพทย์ มีการชำแหละและจำหน่ายเนื้อให้กับเพื่อนบ้าน ซึ่งนำไปสู่การแพร่กระจายตัวของโรค นอกจากนี้สัตว์ป่าเช่น เก้ง กวาง ที่มีผู้นำซากมาขายเป็นเนื้อกับผู้ชอบบริโภคอาหารป่า ก็เป็นความเสี่ยงของผู้บริโภคเช่นเดียวกัน

อาการในสัตว์
ในพวกสัตว์เคี้ยวเอื้อง อาการจะเกิดแบบเฉียบพลัน โดยสัตว์แสดงอาการบวมตามที่ต่าง ๆ หายใจเร็ว มีไข้ มีอาการชักและเกร็ง มีเลือดออกตามช่องเปิดต่าง ๆ ของร่างกาย เลือดของสัตว์ที่ตายจะไม่แข็งตัว และภายในเลือดจะมีเชื้ออยู่ เมื่อออกมาสู่ภายนอก เชื้อจะสร้างสปอร์ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี และปนเปื้อนอยู่ได้นาน

อาการในคน
ในคนจะมีอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองบวม ผิวหนังที่สัมผัสเชื้อจะมี
ลักษณะของเนื้อตาย และเมื่อมีเชื้อในเลือดจำนวนมาก จะมีอาการของ Toxemia

การรักษา
การรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาในกลุ่ม Pennicillin หรือ Erythromycin

การควบคุมโรค
            การกำจัดหรือทำลายสัตว์ที่เป็นโรคแอนแทรกซ์ เป็นวิธีการป้องกันไม่ให้โรคในสัตว์ติดต่อมาสู่คนได้ การทำโปรแกรมวัคซีนป้องกันโรคเป็นประจำทุกปี ช่วยลดอัตราการเกิดโรคได้อย่างมาก แต่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและต้องทำในสัตว์ทุกตัวที่อยู่ในเขตการระบาดของโรค นอกจากนี้การเข้มงวดในการเคลื่อนย้ายสัตว์ หรือการนำเข้าสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านที่อาจนำโรคเข้ามา ต้องดำเนินการกักเพื่อดูอาการอย่างจริงจังทำเป็นประจำ
            สัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรจะมีการตรวจซากโดยสัตว์แพทย์ และไม่ควรนำเนื้อไปบริโภค หรือไปจำหน่ายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค การให้ความรู้ด้านสุขศึกษาและโรคสัตว์สู่คนแก่เกษตรกรเป็นประจำจะช่วยให้เกษตรกรมีความระมัดระวังและรู้จักวิธีป้องกันตนเองจากโรคแอนเทรกซ์ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น