วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรคหลอดเลือดสมองแตก


โรคหลอดเลือดสมองแตก
ในปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองแตกเป็นโรคที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆเนื่องจากโรคประจำตัวภาวะทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดความเครียดในชีวิตประจำวัน เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองแตกมากขึ้น และพบในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลง จึงควรตระหนักถึงภัยของโรคหลอดเลือดสมองแตก และเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดมากขึ้น โรคหลอดเลือดสมองแตกแบ่งเป็น  3 ประเภท
1.โรคหลอดเลือดสมองแตกที่เกิดในเนื้อสมอง เกิดจากการแตกของหลอดเลือดแดงของเนื้อสมอง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง2. โรคหลอดเลือดสมองแตกที่เกิดใต้ชั้นอะแรคนอยด์  เกิดจากการแตกของหลอดเลือดสมองที่โป่งพอง มีอาการคอแข็ง ระดับความรู้สึกตัวลดลง
3. โรคหลอดเลือดสมองแตกที่เกิดในโพรงน้ำสมอง เกิดจากการแตกของหลอดเลือดแดงหรือดำภายในโพรงสมอง 

สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองแตก 
1. ความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุที่สำคัญ ผู้ป่วยมักจะมีความดัน    โลหิตสูงมาก่อน หรือเคยมีประวัติอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต
2. หลอดเลือดสมองผิดปกติ เช่น โรคหลอดเลือดโป่งพอง โรคติด    เชื้อบางชนิด โรคภูมิแพ้ เป็นต้น
3. โรคเนื้องอกบางชนิดที่โตเร็วทำให้หลอดเลือดแตก
4. โรคตับ โรคไต โรคเลือดบางชนิด ทำให้เลือดออกง่ายและไหล     ไม่หยุด
5. โรคพยาธิบางชนิดที่ไชหลอดเลือดให้แตก
6. ผู้ป่วยที่รับประทานยาห้ามการแข็งตัวของเลือดบางชนิด
7. ผู้ที่มีประวัติดื่มสุรา หรือ ยาเสพติด 



  

อาการของโรคหลอดเลือดสมองแตก 
โรคหลอดเลือดสมองแตกมักเกิดขณะที่มีความดันโลหิตสูงหรือมีความเครียดเช่นมีความกังวล โกรธ ใช้สมองมากโต้เถียงกันรุนแรงขณะเบ่งอุจจาระหรือขับรถ ขณะมีเพศสัมพันธ์
เป็นต้น  อาการที่พบจะเกิดขึ้นทันทีทันใด
1.ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันชนิดไม่เคยเป็นมาก่อน
2.  ปวดคอ คอแข็ง
3. สับสน สื่อสารไม่รู้เรื่อง
4. อาเจียน
5. แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว
 6. เวียนศีรษะอย่างรุนแรง บ้านหมุน เดินลำบากหรือเป็นลม
7. พูดไม่ชัด พูดลำบาก   พูดตะกุกตะกัก นึกคำพูดไม่ออก หรือไม่เข้าใจคำพูด 
8. กลืนอาหารลำบาก
9. ถ้าเป็นมากจะซึมลง หมดสติ และเสียชีวิตได้     


การป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง 
1.  การออกกำลังกายสม่ำเสมอและเพียงพออย่างเหมาะสม อย่าทำแบบหักโหม และนานๆ ในครั้งหนึ่งๆ
2.  การควบคุมน้ำหนัก อย่าให้อ้วนเกินไป ลดอาหารพวกไขมันสูง
3.  งดสูบบุหรี่
4.  หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  
5.  การผ่อนคลายลดความตึงเครียด และพักผ่อนอย่างเพียงพอ
6.  มีการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ถ้าพบปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ต้องรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
7.  เมื่อเกิดอาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง อย่านิ่งนอนใจต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที 




การรักษา 
            การรักษาขึ้นกับชนิด  ความรุนแรง  และระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ  โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยมารับการรักษาเร็วเท่าใด ความพิการและอัตราการตายจะลดลงมากเท่านั้น   การรักษาโรคหลอดเลือดสมองแตกมีหลายวิธี ได้แก่
1. การรักษาทางยา เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาและสารน้ำรักษาสมองบวม เป็นต้น
2. การผ่าตัดในรายที่อาการหนัก ซึม หมดสติ มีก้อนเลือดขนาดใหญ่ในสมอง เป็นต้น
3. การพยาบาลและกายภาพบำบัด ป้องกันโรคแทรกซ้อน
4. การรักษาโดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น