วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรคบูลีเมีย... ค่านิยมผิดๆ หรือโรคจิตกันแน่ !


โรคบูลีเมีย... ค่านิยมผิดๆ หรือโรคจิตกันแน่ !

อ้วน อ้วน อ้วน ....
คำสั้นๆ คำนี้ค่อนข้างทรงอิทธิพลป่วนคุณภาพชีวิตคนยุคนี้ไม่น้อยเลย
โดยเฉพาะผู้หญิงมักจะกังวลกับรูปร่างและน้ำหนักของตัวเองเกินจริง แม้กระทั่งจะเปรียบเทียบกับตารางดัชนีมวลกายแล้วยังอยู่ต่ำกว่า 22.9 หรือเรียกว่ายังมีหุ่นได้มาตรฐานอยู่แล้วก็ตาม เธอเหล่านั้นก็ยังมักจะคิดว่าตัวเองอ้วนอยู่ดี
ความอ้วนเป็นปัญหาสุขภาพที่กำลังเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน และมีข่าวครึกโครมหลายเรื่องเกี่ยวกับอันตรายจากการลดความอ้วน โดยวิธีที่ไม่ถูกต้องสำหรับผู้ที่อ้วนจริงการลดน้ำหนักเป็นสิ่งที่พึงกระทำ เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากความอ้วน แต่ควรที่จะต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกวิธีการลดน้ำหนักที่ปลอดภัยและได้ผลยาวนาน
ในขณะที่มีการรณรงค์ให้ลดน้ำหนักเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่อิทธิพลของสื่อโฆษณาวิธีการและผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน จะมุ่งเน้นภาพลักษณ์ของผู้หญิงผอมมีหุ่นแบบบางเป็นแบบอย่าง สร้างแรงจูงใจให้ผู้หญิงทั่วไปอยากมีหุ่นบางเหมือนนางแบบเหล่านั้นบ้าง กลายเป็นค่านิยมอย่างหนึ่งไปในที่สุดทั้งที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เพราะน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรเป็น ค่านิยมอยากผอมบางนี้ทำให้เกิดโรคกลัวอ้วนที่มีชื่อ ภาษาอังกฤษว่า บูลีเบีย (Bulemia)” ในหมู่ของผู้หญิงสาวที่ไม่ได้อ้วนจริง แต่มีความประสงค์จะทำให้ตัวเองผอมให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นอย่างมาก
โรคบูลีเมีย เกิดจากการสร้างนิสัยผิดๆ ให้กับตนเอง เป็นความผิดปกติในการรับประทานอาหาร ซึ่งแสดงอาการโดยรับประทานอาหารอย่างมากมายหลังจากที่กระตุ้นให้ตัวเองอาเจียน ในบางรายอาจใช้ยาถ่ายช่วยให้ตัวเองมีน้ำหนักลดลง หรือใช้วิธีการลดน้ำหนักที่ผิดวิธีอื่นๆ เมื่อผู้ที่เป็นโรคนี้รับประทานอาหารมากเกินไปจะควบคุมตัวเองไม่ได้เลย และจะพยายามทุกวิถีทางที่ขจัดเอาอาหารที่รับประทานเข้าไปออกโดยการอาเจียน หรือใช้วิธีอดอาหารและออกกำลังกายอย่างหนักมาก ความกดดันทางอารมณ์ที่ตนเองมีความผิดปกติเกิดขึ้นจะกลับส่งผลให้รับประทานอาหารมากมายผิดปกติเป็นวัฎจักรเลวร้ายเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
     จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุของโรคบูลีเมีย ไม่พบว่ามีองค์ประกอบประการใดที่เป็นสาเหตุอย่างแน่ชัด ผู้ป่วยอาจมีอาการซึมเศร้า เครียด หรือรู้สึกกังวลกับน้ำหนักตัวหรือรูปร่างของตนเองเกินขอบเขต ส่วนใหญ่จะมีรูปร่างผอมมาก แต่ยังคิดว่าตัวเองหนักหรือมีไขมันส่วนเกินมากเกินไปจนทนตัวเองไม่ได้ จากประสบการณ์ที่พบผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทย มักจะพบในผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วง 20-30 ปี หน้าตาดี และมาจากครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างดี สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการมักจะมาจากถูกคนใกล้ชิดล้อเลียนหรือใช้ถ้อยคำเหน็บแนมเกี่ยวกับรูปร่าง ยังไม่มีการเก็บข้อมูลสถิติอย่างชัดเจนว่ามีผู้เป็นโรคนี้มากน้อยเท่าใด แต่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก 5 ลักษณะอาการที่ชี้ชัดว่าเป็นโรคบูลีเมีย
1. รับประทานอาหารมากเป็นระยะ โดยทั่วไปจะรับประทานบ่อยกว่า 2 ชั่วโมง และรับประทานครั้งละมากๆ
2. ควบคุมตนเองไม่ได้เลยเกี่ยวกับการควบคุมอาหาร
3. ใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหนักขึ้น เช่นการล้วงคอให้อาเจียน ใช้ยาระบายในปริมาณเกินควร เป็นต้น
4. มีความกังวลในรูปลักษณ์ของตนเองมากจนเกินพอดี
5. มีอาการผิดปกติในการรับประทานอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือนขึ้นไป หมายถึง เมื่อรับประทานอาหารแล้วอาเจียนโดยอัตโนมัติ

คุณจะเห็นว่าเมื่อเกิดค่านิยมที่อยากมีหุ่นผอมบางแล้วเริ่มต้นด้วยการรับประทานอาหารแล้วล้วงคอให้อาเจียนนี้วิธีการที่ผิดอย่างมาก เพราะจะสร้างนิสัยที่เคยชินให้กับระบบของร่างกาย ซึ่งจะทำให้ร่างกายคุณไม่ยอมรับอาหารและกลายเป็นโรคขาดอาหารไปในที่สุด อีกทั้งยังฉุดคุณภาพชีวิตคุณเองให้จมอยู่กับกิจกรรมสองอย่างนี้ด้วย
โรคบูลีเมียจึงเป็นโรคที่มีผลกระทบต่อจิตใจอย่างงรุนแรง จนทำให้รู้สึกด้อยค่าในที่สุด เมื่ออาเจียนเป็นเนืองนิตย์ก็จะทำให้ร่างกายเกิดการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ จนอาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ การใช้นิ้วมือล้วงคอให้อาเจียน อาจทำให้เกิดแผลหรือเนื้อเยื่อทะลุในทางเดินอาหาร หรืออย่างการใช้ยาระบายติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการท้องผูกเรื้อรังอย่างรุนแรง หลายคนอาจมีความผิดปกติของประจำเดือนและสุขภาพทรุดโทรมลงได้
การแลกมาเพื่อหุ่นผอมบางกับอาการทรมานร่างกายต่างๆ เหล่านี้ไม่คุ้มค่ากันเลย ในที่สุดก็ต้องหันมาพึ่งพาการรักษากับคุณหมอเป็นทางออกสุดท้ายเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ซึ่งการรักษาโรคบูลีเมียมีด้วยกัน 2 วิธีใหญ่ๆ คือ
การใช้ยาระงับอาการซึมเศร้า และการบำบัดทางจิตวิทยา แต่ผลของการรักษายังไม่ดีนัก
การนำเอาหลักการปรับพฤติกรรมและให้ความรู้ทางโภชนาการอย่างเหมาะสม เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้น แต่วิธีที่ดีที่สุด คือการปรับมุมมองของตนเอง (Self Image) ให้เหมาะสม
เนื่องจากโรคบูลีเมีย เป็นปัญหาสุขภาพที่ค่อนข้างใหม่ของประเทศไทย หากคุณมีบุตรหลานที่มีอาการบูลีเมียควรหาทางนำมาปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด และเพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้ ไม่ควรที่จะสร้างปมด้อยให้กับผู้อื่นในเรื่องของรูปร่างและน้ำหนักตัว เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดโรคร้ายแรงนี้ด้วย อีกทั้งยังไม่ควรริอ่านที่จะใช้วิธีล้วงคอให้อาเจียน หรือใช้ยาระบาย เพื่อหวังผลในการลดน้ำหนักโดยเด็ดขาดครับ
ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น