วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรคบรูเซลโลซิสหรือโรคแท้งติดต่อ (Brucellosis)


โรค Brucellosis หรือโรคแท้งติดต่อสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ โดยเกิดจากเชื้อ Brucella abortus, Br. melitensis, Br. suis และ Br. canis  โรคบูรเซลโลซิส เป็นโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และทางด้านสาธารณสุข

การติดต่อ
1.            การติดต่อจากสัตว์มาสู่คนเกิดได้หลายทาง เช่น การกิน การสัมผัส การหายใจ การ
ดื่มน้ำนมที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่หรือการสัมผัสกับสัตว์ป่วย เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ การกินนมดิบหรือผลิตภัณฑ์นมดิบที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ (pasteurize) ทำให้ติดโรคได้ เนื่องจากเชื้อ Brucella สามารถผ่านออกมาทางน้ำนมของสัตว์ป่วยได้ เชื้อ Brucella อาจเข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางผิวหนัง โดยการสัมผัสกับสิ่งขับถ่าย มูลสัตว์ รก ปัสสาวะ ซากสัตว์ที่เป็นโรค หรืออาจติดโรคจากการทำคลอดสัตว์ ล้วงรก หรือช่วยสัตว์ขณะแท้ง อาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เจ้าหน้าที่โรงฆ่าสัตว์ สัตว์แพทย์ และคนขายเนื้อสัตว์
2.            การติดต่อในสัตว์ ส่วนใหญ่เกิดจากการผสมพันธุ์ โดยเฉพาะในกรณีที่พ่อพันธุ์มีเชื้อ
Brucella เมื่อนำไปผสมพันธุ์กับแม่พันธุ์จะเป็นการแพร่กระจายโรคไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเชื้อจะอยู่ในต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะที่ supra mammary lymph node ซึ่งเชื้อจะถูกขับออกมากับน้ำนมแม่โค แพะ และแกะ ที่เป็นโรคแท้งติดต่อ อาจจะพบเชื้อ Brucella ออกมากับน้ำนมได้เป็นระยะเวลานาน

อาการของโรค
1.            คนที่ได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ ปวดหัว ปวดตามข้อ กล้ามเนื้อ และหลัง มีความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ และอาจมีการอักเสบในระบบประสาท อาการจะเป็นแบบเรื้อรัง
2.            ในสัตว์จะมีอาการอักเสบของระบบอวัยวะสืบพันธุ์และเยื่อหุ้มตัวลูกสัตว์ มีอาการแท้งลูก หรือเป็นหมันและทำให้ปริมาณการผลิตน้ำนมลดลง

การตรวจวินิจฉัย
การตรวจในสัตว์และคน โดยวิธีทางซีรั่มวิทยา เช่น agglutination, ELISA, Fluorescent antibody test, complement fixation test, Haemagglutination, และ Radioimmunoassay

การควบคุมและป้องกัน
            โรคบูรเซลโลซีส เป็นโรคที่ทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมากในการพัฒนาปศุสัตว์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตนม การแท้งลูกซึ่งเป็นอาการที่สำคัญของโรคในสัตว์จะทำให้การเพิ่มผลผลิตในฟาร์มลดลง ทำให้จำนวนสัตว์ในฟาร์มลดลงสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคจะผลิตน้ำนมลดลง การควบคุมโรคในสัตว์จะต้องดำเนินการ

1.            ค้นหาสัตว์ที่เป็นโรค โดยเฉพาะพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่อาจจะเป็นตัวเก็บกักโรคและเป็นตัวนำโรคไปยังสัตว์อื่น ๆ ในฟาร์ม
2.            สร้างภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์ เพื่อป้องกันโรคนี้ในสัตว์

สำหรับในคน การป้องกันและควบคุมโรคสามารถทำได้โดย
1.            ให้สุขศึกษาแก่เกษตรกร หรือผู้ที่ต้องประกอบอาชีพเกี่ยวกับสัตว์ เช่น คนงานในโรง
ฆ่าสัตว์ คนขายเนื้อสัตว์ เพื่อให้ทราบถึงอันตรายและการติดต่อของโรค เพื่อที่จะรู้จักป้องกันตัวเอง เช่น ใส่ถุงมือ รองเท้า หรือเปลี่ยนเสื้อผ้าเมื่อมีการสัมผัสสัตว์
2.            บริโภคนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ผ่านการพาสเจอไรซ์ เพื่อป้องกันการติดต่อของเชื้อ
3.            ให้วัคซีนแก่บุคคลที่มีอาชีพเสี่ยงต่อการติดโรค
4.            ทำการเฝ้าระวังโรคจากสัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว จัดการทางด้านสุขาภิบาลและ
สิ่งแวดล้อมให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการกำจัดเชื้อในบริเวณที่สัตว์ป่วยเคยอาศัยอยู่ ป้องกันไม่ให้สัมผัสกับสิ่งขับถ่ายจากสัตว์ป่วยและกำจัดสัตว์ที่อาจเป็นพาหะ เช่น นก หนู หรือสัตว์อื่น ๆ ที่อาจจะมาสัมผัสกับสัตว์ป่วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น