วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรคพยาธิตืดวัว พยาธิตืดหมู และโรคพยาธิเม็ดสาคู (Taeniasis and Cysticercosis)


โรคพยาธิตัวตืดวัวและหมู (Taeniasis) เกิดจากพยาธิตัวตืด Taenia saginata และ T. solium โดยที่ระยะตัวอ่อนของพยาธิ (cysticercus) ทำให้เกิดพยาธิเม็ดสาคู (cysticercosis)

การติดต่อ

1.            คน  ติดพยาธิตืดหมูจากการกินเนื้อสุกรที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อ (Cysticercus
cellulosae) โดยไม่ทำให้สุกหรือดิบ ๆ สุก ๆ พยาธิจะเจริญเป็นตัวแก่ เกาะกับผนังลำไส้ โดยพยาธิตัวตืดจะมีชีวิต อยู่ในโฮสต์ได้นานถึง 25 ปี หรือมากกว่านั้น สำหรับพยาธิตืดวัวติดต่อโดยการกินเช่นเดียวกับในพยาธิตืดหมู โดยวัวจะเป็นโฮสต์กึ่งกลางในการนำโรค
2.            ในสัตว์  สุกรติดโรคโดยได้รับไข่ที่อยู่ในปล้องสุกโดยปนเปื้อนมากับอาหารหรือเจริญ
เป็นตัวอ่อนระยะติดต่ออยู่ในกล้ามเนื้อของสุกรที่เรียกว่าพยาธิเม็ดสาคู (measly pork) ในขณะที่วัวได้รับไข่ หรือปล้องสุกของพยาธิ T. saginata  ที่ปนเปื้อนอยู่ในทุ่งหญ้าในบริเวณที่มีการสุขาภิบาลไม่ดีและเจริญเป็นพยาธิตัวอ่อน Cysticercus bovis ในกล้ามเนื้อของวัว


อาการ

1.            พยาธิตืดหมูหรือตืดวัวที่อยู่ในลำไส้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในระบบทางเดิน
อาหาร อาจมีท้องเสียสลับท้องผูก มีอาการปวดท้อง มีโลหิตจาง พยาธิอาจปล่อยสารพิษออกมาทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบทั่วไป นอกจากนี้อาจพบอาการอาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และพยาธิอาจพันกันทำให้เกิดการอุดตันของลำไล้ได้
2.            พยาธิเม็ดสาคูที่เกิดจาก C. cellulosae ( T. solium) จะทำให้เกิดพยาธิสภาพหรือ
อาการมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พยาธิไปอาศัยอยู่ ตัวอ่อนของพยาธิพบได้ทุกส่วนของกล้ามเนื้อในร่างกายและทุกอวัยวะในชั้นใต้ผิวหนัง อาจพบในสมอง ตา หัวใจ ตับ ปอดและในช่องท้อง ถ้าพยาธิอยู่ในเนื้อสมองอาจทำให้เกิดอาการชักแบบลมบ้าหมู พฤติกรรมและนิสัยของคนไข้จะเปลี่ยนไป อาจมีอาการคล้ายคนที่มีเนื้องอกในสมอง
3.            ในสัตว์ จะไม่พบอาการมากนัก เนื่องจากการที่ตัวอ่อนไปอยู่ตามกล้ามเนื้อ ทำให้มีผล
ต่อสัตว์น้อยกว่าในการทำให้เกิดพยาธิสภาพ
 

การตรวจวินิจฉัย

1.            การตรวจหาปล้องสุก หรือไข่ของพยาธิ T. solium และ T. saginata จากอุจจาระของ
ผู้ป่วย
2.            การตรวจหาพยาธิเม็ดสาคู (cysticercosis) โดยการตรวจทางซีรั่มวิทยา เช่น ELISA
หรือ การทดสอบทางผิวหนัง ด้วยวิธี Precipitin test

การรักษา

1.            ในคน ใช้ยาได้หลายชนิดที่ให้ผลดี เช่น Niclosamide, Albendazole, Praziquantel
และ มหาด หรือ ปวกหาด
2.            ในโรคพยาธิเม็ดสาคู Praziquantel ให้ผลดีร่วมกับยาแก้ชักและการผ่าตัดเอาซีสต์
พยาธิออก

การควบคุมและป้องกัน

1.            พฤติกรรมการกินอาหารของคนไทย ซึ่งยังนิยมกินเนื้อสัตว์กึ่งดิบกึ่งสุก เช่น ลาบ ลู่
น้ำตก เนื้อ และหมูปิ้งไม่สุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบมีอัตราการติดโรคพยาธิตัวตืดทั้ง 2 ชนิดมากกว่าภาคอื่น ๆ
2.            ในชนบทที่ห่างไกล หรือในพื้นที่ที่ทุรกันดารที่ประชาชนมีรายได้น้อย ทำให้การดูแล
ทางด้านสาธารณสุขและสุขาภิบาลไม่ดีพอ ประชาชนไม่ใช้ส้วมในการถ่ายอุจจาระ เนื่องจากความไม่สะดวก ขณะออกไปทำไร่ทำนา จึงต้องถ่ายตามทุ่งนา หรือเรือกสวนไร่นา ทำให้ไข่พยาธิตัวตืดมีโอกาสปนเปื้อนอยู่ในท้องทุ่ง เมื่อสัตว์ที่เป็นโฮสต์กึ่งกลางมากินก็จะทำให้วงจรชีวิตดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
3.            การเลี้ยงสุกรแบบปล่อยทำให้มีโอกาสติดโรคพยาธิตัวตืดได้สูงขึ้นกว่าปกติ และในโค
กระบือก็เกิดอุบัติการณ์ของโรคในลักษณะเดียวกัน
4.            โรงฆ่าสัตว์ในปัจจุบันทั่วประเทศยังไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัด
มีสัตว์ที่ถูกนำมาขายเนื้อ โดยไม่ผ่านโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกต้อง นอกจากนี้การตรวจซากต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ซากที่พบพยาธิเม็ดสาคูต้องทำลายทิ้ง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายตัวของโรค
5.            การนำอุจจาระของสุกรหรือ โค ไปใช้เป็นปุ๋ยปลูกผัก ทำให้มีโอกาสที่ไข่หรือปล้องสุก
อาจติดไปกับผักโดยเฉพาะโครงการผักปลอดสารที่อาจจะใช้มูลสัตว์แทนสารเคมี ทำให้ผักเจริญงอกงามดีแต่อาจปนเปื้อน ดังที่มีข่าวลงในหนังสือพิมพ์ ถึงการบริโภคอาหารที่มีผักจิ้มหรือผักแกล้ม เช่น แหนมเนืองหรือสลัดผัก มีโอกาสได้รับไข่พยาธิตัวตืด ถ้าหากไม่มีการล้างผักหรือทำความสะอาดก่อนบริโภค
6.            ให้ความรู้ในเรื่องโรคพยาธิตืดหมูและตืดวัว กับประชาชนเพื่อให้รู้จักวิธีป้องกันตัวเอง
และลดโอกาสที่จะติดโรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น