โรคฟิลาริเอซีสในคนหรือที่เรียกว่าโรคเท้าช้าง เกิดจากพยาธิตัวกลมในกลุ่ม Filarial worm ซึ่งมีอยู่หลายชนิดได้แก่ Brugia malayi, Wuchereria bancrofti, Onchocerca volvulus, Loa Loa, Mansonella ozzardi, Dipetalonema streptocerca และ D. perstans Dirofilaria immitis และ D. repens สำหรับในประเทศไทยพบเพียงชนิด W. bancrofti, B. malayi, D. immitis และ D. repens โรคฟิลาริเอซิสในสัตว์พบว่าพยาธิทั้ง 7 ชนิดที่พบในคน จะมีเพียง 5 ชนิดที่พบในสัตว์ โดย 2 ชนิดที่ไม่พบ คือ W. bancrofti และ M. ozzardi และพยาธิฟีลาเรียที่สำคัญในสัตว์ ได้แก่ Dirofilaria immitis โดยจะพบพยาธิในระบบเลือด ระบบน้ำเหลือง กล้ามเนื้อ connective tissue และช่องว่างในลำตัว
การติดต่อ
1. ในคน พยาธิฟิลาเรียที่เป็นในสัตว์หลายชนิดสามารถติดต่อมาสู่คนได้ โดยส่วนมากจะพบเป็นระยะตัวอ่อนหรือเป็น immature adult หรือพบตัวอ่อนไมโครฟิลาเรีย (Microfilaria) ในกล้ามเนื้อ แต่ไม่พบตัวอ่อนไมโครฟิลาเรียของสัตว์ในระบบบเลือดของคน พาหะที่นำระยะติดต่อของพยาธิฟิลาเรีย ได้แก่ ยุง เนื่องจากสัตว์เลี้ยงหลายชนิดสามารถเก็บกักโรค เช่น สุนัข แมว ลิงและค่าง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีเจ้าของ
2. ในสัตว์ พยาธิฟิลาเรียสามารถติดต่อระหว่างสัตว์ โดยการนำของยุง ซึ่งมีหลายชนิดเป็นพาหะที่สำคัญ เช่น ยุงลาย (Aedes) ยุง culex และยุงก้นปล่อง (Anopheles)
อาการของโรค
1. ในคน พยาธิตัวแก่ที่มีชีวิต หรือที่ตายแล้วไปอุดตันทางเดินของน้ำเหลือง และการเดินทางของตัวพยาธิ ทำให้เกิดการระคายเคืองภายในท่อน้ำเหลือง (lymphatic vessels) ตัวพยาธิยังอาจปล่อยสารพิษที่มีปฏิกิริยาต่อร่างกาย ทำให้หลอดน้ำเหลืองอักเสบ และเปลี่ยนแปลงเป็น granuloma ซึ่งจะทำให้หลอดน้ำเหลืองแคบและตีบตัน เกิดการอุดต้น ทำให้เกิดการคั่งของน้ำเหลือง และไหลย้อนกลับเข้าไปอยู่ในช่องต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ทรวงอก อัณฑะ และ ช่องอก การเปลี่ยนแปลงที่ต่อมน้ำเหลืองอาจทำให้เกิดการบวมของอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เท้า หรือถุงอัณฑะ อาการของโรคจะแสดงให้เห็นภายใน 8-12 เดือน โดยอาการที่อาจพบพร้อม ๆ กับการอักเสบของท่อทางเดินน้ำเหลือง เช่น มีไข้สูง เหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน โดยจะเป็น ๆ หาย ๆ และพัฒนาจนเป็นสภาพของโรคเท้าช้าง
2. ในสัตว์ พยาธิตัวแก่ D. immitis จะอาศัยอยู่ในหัวใจในขณะที่พยาธิ B. malayi จะมีระยะตัวอ่อน microfilaria ในกระแสเลือด สำหรับพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขและแมว จะทำให้เกิดอาการในระบบหมุนเวียนโลหิตและทางเดินหายใจเกี่ยวข้องกับอวัยวะที่พยาธิอาศัยอยู่ ส่วนพยาธิ B. malayi ไม่ทำให้เกิดอาการในสุนัขอย่างเด่นชัด จึงทำให้ตรวจวินิจฉัยพบน้อยกว่าพยาธิในกลุ่ม Dirofilaria spp
การตรวจวินิจฉัย
1. จากประวัติและอาการป่วย
2. Modified Knott’s technique โดยใช้เลือด 1 ml ผสมกับฟอร์มาลิน 2 % จำนวน 10
ml เขย่าให้เลือดเข้ากับฟอร์มาลิน จากนั้นนำไปปั่นเอาตะกอนมาตรวจหาระยะตัวอ่อน (microfilaria) โดยการผสมกับ methylene blue เพื่อย้อมดูลักษณะชนิดของตัวอ่อนพยาธิ
3. ตรวจทางซีรั่มวิทยา เช่น Complement Flxation test, Haemagglutination test
Fluorescent Antibody test และ ELISA
4. การทดสอบทางผิวหนัง (Intradermal test)
การควบคุมและป้องกันโรค
ในคน ข้อมูลทางระบาดวิทยาและบทบาทของยุงที่เป็นพาหะนำโรคเท้าช้างชนิด B. malayi และ W. bancrofti ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก เนื่องจากจำนวนของผู้ป่วยในประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนน้อย และมีรายงานอยู่ในบางภาคของประเทศไทย การควบคุมโรคทำได้ยากเนื่องจากพาหะที่สำคัญของโรคมีอยู่ทั่วไป ประกอบกับปัญหาของผู้อพยพที่อยู่ตามชายแดนเข้ามาในประเทศไทย ทำให้การควบคุมโรคทำได้ยาก การกำจัดโรคอย่างสมบูรณ์ต้องมีความร่วมมือและดำเนินการอย่างจริงจังของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำจัดพยาธิที่อยู่ในคนและสัตว์เพื่อลดการแพร่กระจายตัวของโรค
ในสัตว์ - ปัญหาที่สำคัญ คือ สัตว์ไม่มีเจ้าของที่เป็นตัวเก็บกักโรคที่สำคัญทำให้โรคแพร่กระจายตัวไปได้อย่างกว้างขวาง ประกอบกับ ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจในสุนัขมีราคาแพงมากขึ้นทำให้เจ้าของเลือกที่จะไม่รักษา ทำให้สุนัขเป็นแหล่งเก็บกักโรคที่สำคัญ สำหรับการควบคุมยุงในสัตว์เลี้ยงคงไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นไปได้ยาก และไม่เหมาะสมในเชิงปฏิบัติ การควบคุมดูแลที่ถูกต้องคือ ฉีดยา หรือให้ยาป้องกันพยาธิตัวอ่อนของพยาธิฟิลาเรีย ทุก 2-3 เดือน และให้เป็นประจำตลอดชีวิตของสัตว์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น