หืด - โรคทรมาน
โรคหืด เป็นโรคที่พบบ่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และมีแนวโน้มที่จะพบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลของสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยแจ้งว่า ในปี พ.ศ. 2545 มีผู้ป่วยโรคหืดในประเทศไทย 3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของประชากรทั่วไป ในขณะที่ประเทศแถบยุโรปตะวันตกซึ่งเป็นแถบที่ถือว่ามีความชุกของโรคหืดสูงสุดในโลก พบว่า เด็กร้อยละ 10-15 และผู้ใหญ่ร้อยละ 8.4 เป็นโรคหืด โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-4 ต่อปีในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยได้มีรายงานการสำรวจความชุกของโรคหืดตีพิมพ์เป็นระยะ ในผู้ใหญ่รายงานปี 2518 พบเพียงร้อยละ 2.4 ปี 2538 พบร้อยละ 4.8 ต่อมาในปี 2541 พบผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ว่าเป็นโรคหืดร้อยละ 8.8 โดยร้อยละ 10 ยังคงมีอาการหอบหืดอยู่ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา การศึกษาล่าสุดตีพิมพ์ปี 2547 ในผู้ใหญ่อายุ 20-44 ปี ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ 4 เมือง คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา พบความชุกของผู้ที่เคยมีอาการหอบหืดร้อยละ 10.8 ขณะนี้ยังมีอาการหอบหืดอยู่ ร้อยละ 6.8 โดยผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครมีความชุกของโรคหืดสูงสุด คือ ผู้ที่เคยมีอาการหอบหืด ร้อยละ 13.6 และผู้ที่ยังมีอาการหอบหืดอยู่ ร้อยละ 9.4
รายงานการศึกษาในเด็กที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ปี 2541 พบเด็กที่เคยมีอาการหอบหืด ร้อยละ 18.3 และขณะนี้ยังมีอาการหอบหืดอยู่ ร้อยละ 12.7 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรายงานการศึกษาในปี 2533 พบว่าโรคหืดมีอัตราความชุกเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า จะเห็นได้ว่า อัตราการเป็นโรคหืดของเด็กและผู้ใหญ่ในบ้านเราไม่แตกต่างจากประเทศทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกันด้วย จึงสมควรที่จะทำความรู้จักและพยายามรักษาป้องกันโรคนี้ให้ดียิ่งขึ้น
โรคหืดเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น เกิดอาการหดเกร็งของหลอดลม มีการหลั่งมูกในหลอดลมเพิ่มขึ้นและผนังหลอดลมบวม เป็นผลให้มีอาการของหลอดลมตีบแคบ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทุเลาได้เองหรือโดยใช้ยา
สาเหตุ พบว่ามีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ โรคภูมิแพ้ โดยเด็กที่เป็นหืด ร้อยละ 80 เป็นโรคภูมิแพ้ แต่ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหืดมีเพียงร้อยละ 50 ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงของเด็กที่จะเป็นโรคหืดคือเรื่องของพันธุกรรม เพราะโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดได้เป็นกรรมพันธุ์ พบว่า เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีพ่อและ/หรือแม่ หรือญาติใกล้ชิดเป็นโรคหืด หรือโรคภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีโอกาสที่จะเป็นโรคหืดสูงกว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวที่ไม่เป็นโรคภูมิแพ้
อีกปัจจัยเกี่ยวข้องที่สำคัญ คือ สิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ป่วยโรคหืดที่เกิดจากสาเหตุภูมิแพ้ การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้เป็นเวลานาน จะทำให้ผู้ป่วยเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารนั้นและทำให้เกิดอาการหอบหืดขึ้นมาได้ สารก่อภูมิแพ้ที่พบมีผู้แพ้บ่อย ได้แก่ ตัวไรในฝุ่นบ้าน, แมลงสาบ, สัตว์เลี้ยงที่มีขน ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ภายในอาคาร/บ้านที่อยู่อาศัย ส่วนภายนอกบ้าน ได้แก่ ละอองเกสรหญ้า วัชพืช ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ และเชื้อรา ซึ่งเชื้อรานี้พบได้ทั้งภายในบ้านและภายนอกบ้าน
สารระคายและมลพิษที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมากก็สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดทั้งชนิดที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ และชนิดที่ไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้มีอาการหอบหืดขึ้นได้ สารระคายที่พบบ่อย ได้แก่ ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสียรถ ก๊าซ และกลิ่นฉุน ๆ นอกจากนั้นในงานอาชีพบางชนิด พบได้ทั้งสารก่อภูมิแพ้และสารระคาย เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงานต่าง ๆ ดังนั้น สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวผู้ป่วยจึงมีได้ทั้งสารก่อภูมิแพ้ สารระคาย และมลพิษที่พบมากในเมืองใหญ่ที่มีความเจริญตามอย่างซีกโลกตะวันตก
ปัจจัยอื่นที่ถือเป็นเหตุเสริมให้ผู้ป่วยโรคหืดเกิดมีอาการหอบหืดขึ้นมา หรือถ้ามีอาการหอบหืดอยู่แล้วก็จะมีอาการกำเริบขึ้นได้ที่สำคัญ คือ การติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด การติดเชื้อแบคทีเรียของทางเดินอากาศหายใจส่วนบน เช่น ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หรือแม้แต่ฟันผุ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรวดเร็ว สุขภาพที่อ่อนแอลงเนื่องจากขาดการพักผ่อน ไม่ออกกำลังกาย และความเครียด วิตกกังวล สาเหตุทางจิตใจก็มีส่วนทำให้โรคหืดกำเริบได้ด้วย
อาการของโรคหืด
คือ หอบ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ไอ หายใจมีเสียงวี๊ดหรือเสียงฮื้ด อาการมักเกิดเป็นพัก ๆ โดยอาจเกิดอาการเมื่อออกกำลังหรือทำงานหนัก หรือเป็นเวลานอนกลางดึกจึงเป็นโรคที่ทรมาน ถ้าอาการมากจะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมากด้วย เมื่อสงสัยว่าจะเป็นโรคหืดจึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ-ประเมินความรุนแรงของโรคและรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ถ้าผู้ป่วยไปพบแพทย์ได้ขณะที่กำลังมีอาการหอบหืด แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยโดยการฟังเสียงหายใจจากปอดได้เลย แต่ถ้าไปตรวจขณะไม่มีอาการอาจต้องอาศัยการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม
หลักในการรักษาโรคหืด
1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ เมื่อสังเกตว่าสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งกระตุ้นใดทำให้เกิดอาการหอบควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งนั้น การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยวิธีสะกิด(skin prick test) อาจช่วยบอกชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการได้
2. การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหืด ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภท
1. ประเภทที่ช่วยบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาขยายหลอดลม มีทั้งชนิดพ่นสูด ชนิดกินและฉีด ใช้เพื่อขยายหลอดลมในช่วงที่มีอาการหอบหืดเนื่องจากหลอดลมตีบแคบ
2. ประเภทที่ใช้ป้องกัน เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ใช้เพื่อลดการอักเสบของหลอดลมและป้องกันไม่ให้เกิดอาการหอบขึ้นอีก ยาประเภทนี้ต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานตามความรุนแรงของโรค ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ยาประเภทนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ
ก. ยาป้องกันที่มิใช่สเตียรอยด์ มีทั้งในรูปยาพ่นและยากิน ได้แก่
- Cromolyn sodium มีทั้งในรูปยาพ่นสูดและยาพ่นผ่านเครื่องพ่นฝอยละออง มักใช้ในเด็ก ผลข้างเคียงน้อย ราคาค่อนข้างสูง และต้องใช้วันละหลายครั้ง
- Theophylline เป็นยากิน อาจมีผลข้างเคียง เช่น ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียนได้ ต้องระวังในการใช้ร่วมกับยาอื่น เนื่องจากมีผลต่อการขับยาบางชนิดออกจากร่างกายได้ มีข้อดีคือ ราคาไม่แพง - ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว(Long acting ?2- agonist) มีทั้งในรูปยากิน และยาพ่น แต่นิยมใช้ในรูปยาพ่นมากกว่า โดยใช้ร่วมกับยาป้องกันชนิดสเตียรอยด์
- Leukotriene receptor antagonist เช่น Montelukast เป็นยากิน ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผลข้างเคียงน้อย แต่ราคาค่อนข้างสูง
ข. ยาป้องกันชนิดสเตียรอยด์ มีทั้งยาพ่นสูด ยากินและฉีด ยากินและยาฉีดออกฤทธิ์ได้ดี แต่มีผลข้างเคียงสูง เช่น อาจยับยั้งการเจริญเติบโตของเด็ก ความดันโลหิตสูงขึ้น น้ำตาลในเลือดสูง หรือเกิดกระดูกผุได้ จึงมักใช้ในระยะสั้นเพื่อลดการอักเสบของหลอดลมในช่วงมีอาการมาก ส่วนการใช้เพื่อเป็นยาป้องกันซึ่งต้องใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน นิยมใช้ในรูปแบบของยาพ่นสูดมากกว่า เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยกว่า
รูปแบบของยาพ่นสูด ที่ใช้โดยทั่วไป มี 2 รูปแบบ
1. ยาพ่นสูดชนิดที่ใช้ก๊าซ (Metered-dose inhaler, MDI) (รูปประกอบ) เป็นชนิดที่นิยมใช้กันมานานตั้งแต่เริ่มต้น ตัวขับเคลื่อนในยาพ่นสูดชนิดนี้อย่างแรกเป็นสาร Chlorofluorocarbon (CFC) ในระยะหลังพบว่าอาจมีอันตราย เนื่องจากสามารถทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศโลก ทำให้รังสีอุลตร้าไวโอเลตบีส่องกระทบผิวโลกได้มากขึ้น จึงอาจทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรโลก เช่น เกิดมะเร็งผิวหนัง ต้อกระจก เป็นต้น และมีผลกระทบต่อพืชและสัตว์ชนิดอื่นได้ด้วย ทั่วโลกจึงมีการรณรงค์เพื่อให้เลิกการใช้สาร CFC ทั้งหมดรวมทั้งที่ใช้เป็นตัวขับเคลื่อนในยาพ่น MDI โดยมีการผลิตยาพ่นสูดที่ใช้ก๊าซชนิดอื่นที่ไม่ใช่ CFC ขึ้นมาใช้แทน โดยในประเทศไทยคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะเลิกสั่งยาพ่นสูดที่มีสาร CFC เข้าในประเทศ ภายในเร็วๆ นี้ ยาพ่น MDI อาจใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่นในเด็กเล็ก (กระบอกพ่นยา & หน้ากาก)
การพ่นเข้าปากต้องอาศัยวิธีการที่ยุ่งยากกว่ายาสูดหรือยาพ่นผ่านเครื่องพ่นฝอยละออง แต่มีข้อดีคือ ราคาไม่สูง
2. ยาสูดแบบผง (Dry powder inhaler) (รูปประกอบ) ใช้ง่ายและสะดวก ไม่ต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์อื่น แต่ราคามักสูงกว่ายาพ่นสูดชนิดแรก หากผู้ป่วยโรคหืดที่มีสาเหตุจากภูมิแพ้ยังมีอาการต่อเนื่องโดยที่หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสิ่งกระตุ้น ดูแลสุขภาพทั่วไปอย่างดีและใช้ยาเต็มที่แล้วยังควบคุมอาการไม่ได้ อาจพิจารณาฉีดวัคซีนภูมิแพ้ร่วมด้วยได้
โดยสรุป โรคหืดเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โรคหืดเป็นโรคที่ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานและมีคุณภาพชีวิตแย่ลง หากมีอาการรุนแรงอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ป่วยควรรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรซื้อหรือปรับขนาดยาเอง และต้องมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อประเมินผลการรักษาและปรับขนาดยาให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยโรคหืดสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับคนทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
1. Sears M. Descriptive epidemiology of asthma. Lancet 1997 ; 350 (suppl II) : 1-27.
2. Johanssen SGO, Haahtela T. Prevention of allergy and asthma. Interim Report. Copenhagen : Munksgaard, 2000: 1069-88.
3. Tuchinda M. Prevalence of allergic diseases in students of Mahidol University. Siriraj Hospital Gaz 1978 ; 30 : 1285-1298.
4. Bunnag C, Kongpatanakul S, Jareoncharsri P, Voraprayoon S, Supatchaipisit P. A survey of allergic diseases in university students of Bangkok, Thailand. J Rhinol 1997 ; 4 : 90-93.
5. Vichyanond P, Jirapongsananurak O, Visitsuntorn N, Tuchinda M. Prevalence of asthma, rhinitis and eczema in children from Bangkok area using the ISAAC (International Study for Asthma and Allergy in Children) questionnaires. J Med Assoc Thai 1998 ; 81 : 175-184.
6. Vichyanond P, Sunthornchart S, Singhirunnusorn V, Ruangrat S, Kaewsomboon S, Visitsunthorn N. Prevalence of asthma, allergic rhinitis and eczema among university students in Bangkok. Resp Med 2002 ; 96 : 34-38.
7. Boonsawat W, Charoenphan P, Kiatboonsri S, Wongtim S, Viriyachaiyo V, Pothirat C, et al. Prevalence of asthma and rhinitis symptoms in adults in 4 cities of Thailand. Abstract book of the 4th World Asthma Meeting, February 16-19, 2004, p. 71.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น