วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรคเอดส์

โรคเอดส์

เอดส์ คืออะไร
เอดส์ หรือ AIDS (Acquired Immune Deficiency Syndrome)โรคเอดส์ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Acquired Immune Deficiency Syndrome มีชื่อโดยย่อว่า AIDS = เอดส์    เป็นกลุ่มอาการของโรค ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอดส์ ซึ่งจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือกขาว ซึ่งเป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ติดเชื้อโรคอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าคนปกติ อาการจะรุนแรง และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต
โรคเอดส์ คือ โรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่องจนไม่สามารถต่อสู้เชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ง่ายกว่าคนปกติ
ขณะนี้โรคเอดส์กำลังระบาดในทวีปอเมริกา ยุโรป อาฟริกา แคนนาดา โรคนี้ได้ติดต่อมาถึงบางประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย










โรคเอดส์คือ
โรคเอดส์เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ไวรัสเอดส์ ;หรือมีชื่อภาษาอังกฤษว่า HIV (เอช-ไอ-วี) ซึ่งย่อมาจาก Human immunodeficiency Virus เมื่อไวรัสเอดส์เข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปภายในเซลล์บางชนิดของร่างกาย จะมีการฟักตัวระยะหนึ่งซึ่งอาจนานเป็นปีหรือนานกว่า 10 ปี โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ต่อมาไวรัสจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย จนสามารถทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เสื่อมหรือเสียไปเรื่อยๆ ผู้ป่วยจึงมักมีการติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย ในที่สุดร่างกายก็ไม่สามารถทนทานได้ และจะเสียชีวิตในที่สุด
ทำไมจึงเรียกว่าโรคเอดส์ (AIDS)
AIDS มาจากคำเต็มว่า Acuquired immune Deficiency Syndrome
A = Acquired หมายถึง เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด
I = Immune หมายถึง ระบบภูมิต้านทานหรือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
D = Deficiency หมายถึง ความบกพร่อง การขาดไปหรือเสื่อม
S = Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการหรือโรคที่มีอาการหลายๆอย่าง เอดส์ (AIDS) จึงหมายถึงกลุ่มอาการของภูมิคุ้มกันบกพร่องที่เกิดขึ้นภายหลัง
ลักษณะพิเศษของเชื้อเอดส์
เป็นไวรัสกลุ่ม Retrovirus เป็นไวรัสที่เพิ่งค้นพบได้ไม่นานเมื่อเทียบกับไวรัสอื่นๆ เชื้อไวรัสชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างจากเชื้อไวรัสอื่นๆ ดังนี้คือ
มันสามารถหลบเลี่ยงจากการถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกายคนปกติได้ด้วยการเข้าหลบอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-Lymphocytes ทำให้ Antibodies ที่ถูกสร้างขึ้นไม่สามารถทำอันตรายต่อเชื้อเอดส์ที่บุกรุกเข้ามาในร่างกายได้
- สามารถนำเอาส่วนของ gene ของตัวมันเข้าไปแฝงเป็นส่วนหนึ่งของ gene ของเม็ดเลือดขาวของคนเรา แล้วอาศัย enzyme พิเศษที่ไม่มีในไวรัสชนิดอื่นที่เรียกว่า Reverse Transcriptase enzyme เป็นตัวกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวให้มีการสร้าง gene โดยที่ตัวมันไม่ต้องแบ่งตัวเอง ทำให้มีการเพิ่มจำนวน gene ของไวรัสได้อย่างรวดเร็วจนสามารถทำลายเม็ดเลือดขาวที่มันอาศัยอยู่นั้นได้
- สามารถกระตุ้นให้เซลล์บางชนิดของร่างกายมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นมะเร็งชนิดต่างๆได้ เช่น กระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุหลอดเลือดแบ่งตัวมากจนเกิดเป็นมะเร็งที่เรียกว่า Kaposi’s Sarcoma หรือสามารถกระตุ้นให้เซลล์ต่อมน้ำเหลืองแบ่งตัว จนเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เรียกว่า Lymphoma ได้ เป็นต้น เชื้อเอดส์หรือไวรัสเอดส์ (HIV) คืออะไร
เชื้อเอดส์มีชื่อว่า HIV มาจากคำเต็มว่า Human Immunodeficiency Virus
H = Human หมายถึง คน หรือ มนุษย์
I = Immunodeficiency หมายถึง ภูมิต้านทานโรคบกพร่องหรือเสียไป
V = Virus หมายถึง เชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากจนเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่างๆได้ ถ้าเข้าไปในร่างกาย
HIV จึงหมายถึง เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กมาก และถ้าเข้าไปในร่างกายก็จะทำให้ภูมิต้านทานโรคของเราเสียไป และร่างกายก็จะไม่สามารถต้านทานโรคต่างๆได้ จึงล้มป่วยด้วยโรคนั้นๆ














ประวัติของโรคเอดส์
1. โรคเอดส์ค้นพบเมื่อใด
โรคเอดส์เป็นโรคที่ค้นพบ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524ในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยพบว่าผู้ป่วยรายแรกที่พบนี้มีอาการป่วยที่แตกต่างจากผู้ป่วยอื่นๆและมีภูมิคุ้มกันปกติ และต่อมาได้พบผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการเช่นเดียวกับผู้ป่วยรายนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
2. โรคเอดส์มีต้นกำเนิดมาจากประเทศใด
มีหลักฐานรายงานว่าโรคเอดส์มีต้นกำเนิดมาจากประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งเชื่อกันว่ามีผู้ป่วยตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2520 แล้วมีการแพร่กระจายไปยังเกาะไฮติซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของทวีปอเมริกา ต่อมามีการแพร่ระบาดขึ้นในทวีปอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย เช่น นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก แล้วจึงมีการแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยจนถึงปัจจุบันมีรายงานว่ามีมากกว่า 163 ประเทศที่พบโรคเอดส์ในประเทศของตนแล้ว

3. โรคเอดส์พบครั้งแรกในประเทศใด
โรคเอดส์พบครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ.2524) โดยเมื่อเดือนมิถุนายน ศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐฯได้รับรายงานจากนครลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ว่ามีชายหนุ่มรักร่วมเพศ 5 คนป่วยเป็นปอดบวมจากเชื้อแปลกๆ ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Pneumocystis Carinii Pneumonia ภายในอีก 1 เดือนต่อมา มีรายงานจากนิวยอร์ก และแคลิฟอร์เนียว่ามีชายรักร่วมเพศอีก 26 ราย ป่วยเป็นโรคมะเร็ง Kaposi’s Sarcoma ซึ่งตามปกติเป็นในคนอายุมากหรือคนที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายเสียไป และยังมีผู้ป่วยอีกหลายราย เป็นโรคปอดบวม และติดเชื้อชนิดฉวยโอกาส ชายหนุ่มที่ป่วยทุกรายไม่มีรายใดที่มีโรคร้ายแรงประจำตัวมาก่อน และไม่มีรายใดที่เคยได้รับยาประเภทกดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และทุกรายเมื่อได้รับการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการพบว่าการทำงานของเซลล์ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับภูมิต้านทานโรคเสียไปไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ และในที่สุดผู้ป่วยเหล่านี้ก็เสียชีวิตเพราะระบบภูมิคุ้มกันโรคบกพร่อง หลังจากนั้นการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่ในขณะนั้นยังไม่มีใครทราบสาเหตุว่าเกิดจากเชื้อชนิดใด


4. ใครเป็นผู้ค้นพบเชื้อเอดส์เป็นคนแรก
ผู้ค้นพบเชื้อเอดส์เป็นคนแรกเป็นชาวฝรั่งเศสชื่อ Luc Montagnier และคณะโดยสามารถแยกเชื้อได้จากต่อมน้ำเหลืองของคนไข้ที่เป็นรักร่วมเพศ และป่วยเป็นโรคเอดส์ในปี ค.ศ. 1983 (พ.ศ.2526) และให้ชื่อไวรัสนี้ว่า Lymphadenopathy Associated Virus หรือ (LAV)และในปี พ.ศ.2527 Robert Gallo และคณะแพทย์จากสหรัฐอเมริกา ก็สามารถแยกเชื้อเอดส์ได้จากเม็ดเลือดขาว ของคนไข้โรคเอดส์และตั้งชื่อว่า Human T-cell Lymphotropic Virus Type lll(HTLV-lll) ต่อมาพบว่า LAV และ HTLY-lll เป็นไวรัสตัวเดียวกัน แต่มีการเรียกชื่อที่แตกต่างกันไป จึงได้ตกลงตั้งชื่อเรียกเป็นสากลว่า Human Immunodeficiency Virus (HIV)
5. เชื้อเอดส์มาจากไหน
เชื้อเอดส์หรือ HIV เป็นไวรัสในกลุ่ม Retrovirus สันนิษฐานว่าเป็นไวรัสที่มีการพัฒนาตัวเองมาจากไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเฉพาะในสัตว์เท่านั้น และไม่สามารถทำให้เกิดโรคในคนได้ แต่ต่อมามีการพัฒนาขึ้น และค่อยๆ ทำให้เกิดโรคในสัตว์ที่ใกล้เคียงกับคน เช่น ลิง โดยเฉพาะลิงเขียว ในทวีปแอฟริกา (Afarican green monkey) หลังจากนั้นไวรัสเหล่านี้อาจติดมาในคน ในระยะแรกเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองในคน ต่อมาจึงเกิดเป็นโรคเอดส์ที่เป็นเฉพาะในคนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่มาของเชื้อเอดส์อย่างชัดเจน















อาการ

อาการและการดำแนินโรค
1. โรคเอดส์มีกี่ระยะ แต่ละระยะมีอาการอย่างไร
โรคเอดส์แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1ระยะที่ไม่ปรากฏอาการ (Asymptomatic Stage or Carrier Stage) หรือเรียกว่า ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ สุขภาพจะแข็งแรงสมบูรณ์เหมือนคนปกติทุกประการ แต่อาจจะเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆเช่นเดียวกับคนปกติอื่นๆ เป็นไข้หวัด ซึ่งจะหายใจได้เหมือนปกติทั่วไป ไม่มีโรคแทรกซ้อนบางคนอาจจะอยู่ในระยะนี้ 2-3 ปีก่อนที่จะเข้าสู่ระยะต่อไปโดยเฉลี่ยประมาณ 7-8 ปี แต่บางคนอาจจะไม่มีอาการนานถึง 10 ปี หรือนานกว่านั้นก็ได้ ผู้ติดเชื้อทุกรายที่อยู่ในระยะนี้แม้จะไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่นๆ ได้
ระยะที่ 2 ระยะมีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ (Aids Related Complex หรือ ARC) ระยะนี้นอกจากมีเลือดบวกแล้ว ยังอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างปรากฏ ให้เห็นได้ เช่น - ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่งติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน - น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วมากกว่า 10% ของน้ำหนักตัวใน 1 เดือน - อุจจารระร่วงเรื้อรังเป็นเวลานานเกิน 1 เดือน โดยไม่ทราบสาเหตุ - มีฝ้าขาวที่ลิ้นและในลำคอ มีไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ - มีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่ไม่ร้ายแรง เช่น เริมที่ไม่ลุกลาม วัณโรคที่ไม่ แพร่กระจาย เป็นต้น ระยะนี้อาจจะเป็นอยู่นานหลายเดือนหรือเป็นปี แล้วจะกลายเป็นระยะเอดส์เต็มขั้นต่อไป นักวิชาการบางท่าน อาจจะรวมระยะต่อมน้ำเหลืองโตไว้ในระยะนี้ด้วย แต่เนื่องจากมีการศึกษาถึงการดำเนินโรคของระยะนี้ดีขึ้น ก็พบว่าพวกที่มีน้ำเหลืองโตนี้ มีการดำเนินโรคคล้ายกับพวกไม่ปรากฏอาการมากกว่า บางคนจึงไม่นับเอาพวกที่มีต่อมน้ำเหลืองโตไว้ในระยะนี้
ระยะที่ 3 ระยะเอดส์เต็มขั้น (Full Blown AIDS) หรือเรียกว่า ระยะโรคเอดส์ระยะนี้เป็นระยะที่ภูมิต้านทานของร่างกายถูกทำลายลงมาก จนมีผลต่อการป้องกันการติดเชื้อชนิดอื่นๆ เนื่องจากมีเม็ดเลือดขาวถูกทำลายไปจนเหลือน้อยเกือบหมด ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคที่ตามปกติไม่สามารถทำอันตรายต่อคนปกติได้ที่เรียกว่าโรคติดเชื้อฉวยโอกาสซึ่งมีอยู่หลายชนิดแล้วแต่ว่ามีการติดเชื้อฉวยโอกาสชนิดใดที่ส่วนใดอาการแสดงที่จะพบจึงเป็นได้หลายแบบ เช่นถ้าเป็นปอดบวมจากเชื้อ Pneumocystis carinii ก็จะมีไข้ ไอ หอบ เจ็บหน้าอก ถ้าเป็นเชื้อราของทางเดินอาหาร ก็จะมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก ถ้าเป็นสมองอักเสบ จากเชื้อ Cryptococcus ก็จะมีอาการไข้ ปวดศีรษะมาก คอแข็งหรือถ้าเป็นโรคเอดส์ของระบบประสาท โดยตรงก็จะมีอาการความจำเสื่อม สติฟั่นเฟือน ซึมเศร้า สมองเสื่อม แขนขาชาหรืออ่อนแรงชักกระตุก เป็นต้น บางรายอาจมีมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งหลอดเลือดหรือ Kaposi’s Sarcoma โดยปรากฏเป็นจ้ำสีม่วงแดงคล้ำๆ ตามผิวหนัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) พบเป็นก้อนโต ตามที่ต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น เมื่อเข้าสู่ระยะนี้แล้วส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน โดยทั่วไปจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 1 - 2 ปี โดยเฉลี่ย
2. อาการอย่างไรที่จะบอกว่าติดเชื้อเอดส์แล้ว
ผู้ที่ได้รับเชื้อเอดส์เข้าไปในร่างกายส่วนใหญ่จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆเลยระหว่างนี้สุขภาพจะแข็งแรง สมบูรณ์ เหมือนคนปกติทุกประการ แต่ก็พบว่าภายใน 2 - 3 อาทิตย์แรกหลังจากได้รับเชื้อเอดส์เข้าไปแล้ว ผู้ป่วยร้อยละ 20 จะมีอาการคล้ายๆ ไข้หวัดคือมีไข้ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต หรือพูดง่ายๆคืออาการคล้ายไข้หวัด เป็นอยู่ประมาณ 10 - 14 วันก็จะหายไปเอง ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจไม่สังเกตนึกว่าคงเป็นไข้หวัดธรรมดา บางคนอาจจะไม่มีอาการอยู่นานถึง 10 ปี หรือนานกว่านั้นก็ได้ (โดยเฉลี่ยประมาณ 7-8 ปี ) คนไข้ทุกรายที่อยู่ในระยะนี้ แม้จะไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่นๆ ได้
3. เชื้อเอดส์ทำให้เกิดอะไรขึ้นกับระบบภูมิต้านทานของร่างกาย และทำให้เกิดโรคได้อย่างไร
ในภาวะปกติ ร่างกายของคนจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า Lymphocyte จำนวนมาก ซึ่งมีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานต่อสู้กับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อ เชื้อเอดส์เข้าสู่ร่างกายของคนเราแล้ว เชื้อจะกระจายไปตามอวัยวะต่างๆเกือบทั่วร่างกาย เชื้อเอดส์จะเจาะเข้าไปในเซลล์เม็ดเลือดขาว แล้วทำลายส่วนประกอบที่สำคัญของระบบภูมิต้านทานของร่างกายให้เสื่อมหรือบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิต้านทานที่ใช้ต่อสู้หรือกำจัดเชื้อโรคต่างๆที่มีอยู่ทั่วไป และที่กำจัดเซลล์มะเร็งทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากเชื้อโรคจำพวกฉวย โอกาส และเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายซึ่งก็เป็นกลุ่มอาการของโรคเอดส์
นอกจากนี้เชื้อเอดส์ยังสามารถบุกรุกเข้าไปในเซลล์อื่นๆ เช่น เซลล์ที่เกี่ยวกับการรับรู้สิ่งแปลกปลอม เซลล์สมองและเซลล์ของเยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น สิ่งที่ตามมาคือทำให้ภูมิต้านทาน ของร่างกายเสียไปและมีอาการทางสมองหรือทางจิตประสาทได้
4. ตอนรับเชื้อเข้ามาใหม่ๆ ระยะแรกจะไม่มีอาการใดๆ เลยจริงหรือไม่
หลังจากรับเชื้อ 2-3 สัปดาห์ ก่อนที่เลือดจะกลายเป็น บวกประมาณ 20? อาจมีอาการคล้ายๆไข้หวัด คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว อาจมีต่อมน้ำเหลืองโต ปวดต้อนคอ อาการจะเป็นอยู่ประมาณ1-2สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะหายเป็นปกติโดยไม่มีอาการอื่นใด ทางแพทย์เรียกอาการในช่วงนี้ว่า ระยะติดเชื้อเฉียบพลันระยะนี้จึงเป็นระยะที่มีอาการไม่จำเพาะสำหรับโรค เอดส์ บางคนอาจไม่ปรากฏอาการใดๆเลยก็ได้จัดอยู่ในระยะที่ 1
5. มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะกระตุ้นให้เป็นโรคเอดส์เต็มขั้นเร็วขึ้น
- สิ่งเสพติด เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ กัญชา ฝิ่น โคเคน ฯลฯ
- การติดชื้อโรคต่างๆ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เริม ไวรัสตับอักเสบบี
- ด้านร่างกาย เช่น ความเครียด ภาวะทุพโภชนาการ ฯลฯ
- สารประกอบพวก Amyl nitrites
6. ระยะฟักตัวของโรคเอดส์คืออะไร มีระยะเวลานานเท่าใด
ระยะฟักตัว หมายถึง ระยะตั้งแต่เชื้อเอดส์เริ่มเข้าสู่ร่างกาย จนกระทั่งเริ่มปรากฏอาการ โดยทั่วไปเมื่อได้รับเชื้อเอดส์มาแล้วจะยังไม่ปรากฏอาการจนกว่าจะเข้าสู่ระยะที่ 2 หรือที่ 3 ที่เรียกว่าระยะมีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ และระยะเอดส์เต็มขั้น
ดังนั้นระยะฟักตัว จึงอาจหมายถึงระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนเป็นระยะมีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ แต่คนทั่วไป จะหมายถึง ระยะตั้งแต่เชื้อเอดส์เข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งเริ่มปรากฏอาการของโรคเอดส์เต็มขั้น ซึ่งบางคนอาจจะใช้เวลา 2-3 ปี จึงจะปรากฏอาการ
โดยทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 7-8 ปี แต่บางคนก็อาจจะใช้เวลานานถึง 10 ปี หรือนานกว่านั้นก็ได้ แต่จะต้องจำไว้ด้วยว่าทุกรายแม้จะไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่นๆได้
7. ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์แล้วยังมีสุขภาพดี จะมีปัญหาอะไรหรือไม่
ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์แล้วยังมีสุขภาพดี มีปัญหา 2 ประการคือ
- อาจจะเกิดอาการป่วยเป็นโรคเอดส์ได้ในภายหลังแม้จะนานถึง 10 ปี ก็ตาม
- ผู้นั้นสามารถแพร่เชื้อเอดส์ไปให้คนอื่นได้ โดยทางเลือดหรือทางเพศสัมพันธ์ หากไม่มีการป้องกัน
8. เชื้อเอดส์ในผู้ที่ยังไม่มีอาการ จะมีปริมาณแตกต่างกับผู้ป่วยโรคเอดส์มากน้อยเพียงใด และมีความรุนแรงต่างกันอย่างไร
ความรุนแรงของเชื้อโรคเอดส์จะไม่ต่างกัน แต่ในคนที่ป่วยเป็นโรคเอดส์จะมีเชื้อเอดส์เป็นจำนวนมาก เม็ดเลือดขาวและระบบภูมิต้านทานโรคถูกทำลายไปมาก
9. คนที่เป็นโรคเอดส์มักจะเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด ส่วนใหญ่คนเป็นเอดส์มักจะเสียชีวิตจากการที่มีเชื้อโรคอื่นแทรกซ้อนเนื่องจากร่างกายไม่มี ภูมิต้านทานต่อเชื้อนั้น เปรียบเสมือนประเทศถูกข้าศึกโจมตีเมื่อไม่มีทหารป้องกันประเทศ ข้าศึกจากภายนอกจึงบุกรุกเข้ามาได้ง่ายข้าศึกก็คือ โรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น มะเร็ง โรคติดเชื้อชนิดฉวยโอกาสต่างๆ โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เริม งูสวัด วัณโรค โรคปอดบวม โรท้องร่วง
10. ผู้ป่วยโรคเอดส์ทำไมจึงมีมะเร็งร่วมด้วยและจะมีอาการอย่างไร ความจริงแล้วยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเชื้อโรคเอดส์ไปทำให้เกิดมะเร็งต่างๆในผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้ายได้อย่างไร เพียงแต่สันนิษฐานว่าเชื้อเอดส์อาจจะมีความสามารถพิเศษโดยตัวมันเองหรือมันอาจจะมีการสร้างสารบางอย่างไปกระตุ้นให้เซลล์บางชนิดของร่างกายมีการแบ่งตัวอย่างผิดปกติจนเกิดมะเร็งขึ้นในที่สุด มะเร็งในผู้ป่วยระยะสุดท้ายคือ มะเร็งของเยื่อบุหลอดเลือดชนิดหนึ่งทำให้เกิดเป็นกลุ่มของหลอดเลือดที่ผิดปกติมองเห็นได้ตามผิวหนังทั่วไปเป็นจ้ำสีแดงม่วง หรือแดงคล้ำๆ เป็นลักษณะที่น่าเกลียด น่ากลัวสำหรับผู้พบเห็นทั่วไปและยากแก่การรักษา มะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่พบได้คือ มะเร็งของระบบน้ำเหลืองที่มีลักษณะเป็นก้อนโตตามต่อมน้ำเหลืองต่างๆและแตกต่างจากมะเร็งของต่อมน้ำเหลืองอื่นๆ คือ รักษายากกว่า

























วิธีการติดต่อ

1. โรคเอดส์ติดต่อกันได้ทางใด
การติดเชื้อเอดส์โดยหลักใหญ่ๆ มีเพียง 2 ทาง นั้นคือ
1.ทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเป็นการรักร่วมเพศหรือรักต่างเพศ
2.ทางเลือด เช่น การใช้เข็มฉีดยา กระบอกฉีดยาที่ไม่สะอาดร่วมกัน การมีบาดแผลแล้วไปสัมผัสกับเลือดหรือน้ำเหลืองของคนไข้ที่มีเชื้อเอดส์อยู่ เช่น การใช้ของมีคม มีดโกน เข็มสักผิวหนัง เข็มเจาะหูร่วมกัน เป็นต้น ละมารดาที่มีเชื้อเอดส์ก็สามารถถ่ายทอดเชื้อเอดส์ไปสู่ทารกในครรภ์ได้
2. โรคเอดส์ติดต่อโดยวิธีใดได้บ้าง
จากจะติดต่อทางเพศสัมพันธ์และทางเลือดแล้ว ยังสามารถติดต่อทางอื่นได้อีก แต่ต้องมีปัจจัยทางอื่นประกอบด้วย เช่น
- ร้านเสริมสวยและการศัลยกรรมตกแต่งซึ่งกระทำโดยที่มิได้ทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ ต่อ เช่น มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ การเจาะหู การสักยันต์ การเสริมจมูก ฯลฯ
- การผ่าตัดเปลี่ยนเนื้อเยื่อและอวัยวะ เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนไต ปลูกถ่ายไขกระดูก ฯลฯ โดยมิได้ตรวจหาเชื้อเอดส์เสียก่อน
- การผสมเทียมที่ใช้อาสุจิจากผู้มาบริจาคโดยมิได้ตรวจหาเชื้อเอดส์เสียก่อน
- การชกต่อยแล้วมีเลือดออก โดยที่เลือดของผู้มีเชื้อเอดส์ไปถูกกับบาดแผล หรือเยื่อบุนัยน์ตาของฝ่ายตรงข้าม
- การเลี้ยงนมบุตรด้วยน้ำนมของผู้อื่น หรือมารดาที่มีเชื้อเอดส์ วิธีต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ความจริงแล้วก็คือติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำอสุจิ เลือด น้ำเหลือง และน้ำนมของผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยตรงนั้นเอง และจะต้องมีบาดแผล และปริมาณเลือด หรือน้ำเหลืองที่เข้าในร่างกายมากพอสมควรจึงมีโอกาสติดได้
3. เชื้อเอดส์ เมื่ออยู่ในและนอกร่างกายคนเราแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าไร
เชื้อเอดส์เมื่อเข้าสู่ร่างกายคนจะมีชีวิตอยู่ตลอดไปจนผู้นั้นเสียชีวิต แต่เมื่อเชื้อเอดส์ออกมานอกร่างกายถึงแม้จะไม่ถูกกำจัดด้วยยาฆ่าเชื้อใด ๆ ก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน โดยเชื้อเอดส์จะค่อยๆ ตายไปจนหมดในไม่กี่ชั่วโมง หรือเป็นวันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมภายนอก หากถูกกับความร้อน ความแห้ง ความเป็นกรด เป็นด่าง แสงแดด เชื้อก็จะตายเร็วขึ้น แต่ถ้าอยู่ในอุณหภูมิ และความชื้นพอเหมาะเช่น อยู่ในห้องแอร์เปิดติดต่อกันตลอดเวลา เชื้อก็อาจจะอยู่ได้เป็นวัน แต่ต้องอยู่ในสภาพที่ยังเป็นของเหลว เช่น อยู่ในเลือดหรือในน้ำอสุจิ แต่ถ้าแห้งแล้วเชื้อก็จะตายไป
4. ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อเอดส์มีอะไรบ้าง
ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อได้แก่
- ปริมาณไวรัส (virus titre) ขึ้นอยู่กับสิ่งที่สัมผัสว่ามีปริมาณไวรัสมากหรือน้อย ปริมาณไวรัสจะมีมากที่สุดในเลือดรองลงมาได้แก่ น้ำอสุจิ น้ำจากช่องคลอด ส่วนในน้ำลาย น้ำตา น้ำนมและปัสสาวะ จะมีปริมาณน้อยมาก ดังนั้นถ้าไปสัมผัสเลือด น้ำอสุจิ และน้ำจากช่องคลอด จะมีโอกาสติดเชื้อมากกว่าไปสัมผัสกับของเหลวอื่นๆ
- การมีบาดแผล(TRAUMA)บริเวณที่มีแผลหรือรอยแตก หรือเยื่อบุในปากในตา เยื่อบุในช่องคลอด อาจมีแผลที่มองไม่เห็น ต้องระวังอย่าให้เชื้อเอดส์เข้าตา ปาก หรือสัมผัสช่องคลอด
- การติดเชื้ออื่นๆ(secondary infection) ได้แก่ การเป็นกามโรคชนิดที่เป็นแผล จะทำให้เชื้อเอดส์เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ทำให้มีโอกาสติดได้มากขึ้น
- พื้นผิวที่สัมผัสกับเชื้อ(epithelial receptors) หมายถึงว่าเซลล์ที่ไปสัมผัสกับเชื้อจะต้องมีพื้นผิว(receptors)ที่สามารถรับเชื้อเข้าสู่เซลล์นั้นได้ เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งมีพื้นผิวมากก็จะมีโอกาสติดมาก
- ความบ่อยหรือถี่ของการสัมผัส(intensity of exposure) เช่น การมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอดส์
- ระยะที่เข้าไปสัมผัสเชื้อ(phase of infection) หมายถึงระยะเวลาที่ไปสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อเอดส์ ขณะที่ร่างกายเจ็บป่วยอ่อนแอจากโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ เช่น เป็นไข้หวัดอยู่จะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าผู้ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง
5. พฤติกรรมอย่างไรที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์
ทุกคนย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อเอดส์หากไม่รู้จักระวังป้องกัน แต่บางคนมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าผู้อื่น คนเหล่านี้ได้แก่
- ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน เพราะไม่สามารถทราบได้ว่าคู่นอนคนใดมีเชื้อเอดส์หรือไม่
- ผู้ที่ติดเชื้อกามโรค และยังมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคู่นอนหลายคน ทำให้เชื้อเอดส์เข้าทางบาดแผลจากกามโรคได้ง่ายกว่าปกติ
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยา กระบอกฉีดยาที่ไม่สะอาดร่วมกับผู้อื่น จะติดเชื้อได้ถ้าเข็มหรือกระบอกฉีดยาเปื้อนเชื้อเอดส์มาก่อน
6. การมีเพศสัมพันธ์กับกับผู้ติดเชื้อเอดส์ด้วยมือ และสัมผัสน้ำคัดหลั่ง จะมีโอกาสติดเชื้อเอดส์หรือไม่
การมีเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้มือ และสัมผัสน้ำคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อนั้นถ้ามือไม่มีบาดแผลอยู่ก็จะไม่มีอันตรายใดๆ แต่ถ้ามือมีบาดแผลแล้วไปสัมผัสกับน้ำคัดหลั่ง เช่น น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด หรือเลือดของผู้ติดเชื้อเอดส์ก็มีโอกาสติดได้
7. โรคเอดส์ หรือเชื้อเอดส์ไม่ติดต่อทางใดบ้าง
นอกจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์และทางเลือดแล้วโรคเอดส์ ไม่ ติดต่อโดยทางอื่นๆ เช่น การใช้โทรศัพท์ร่วมกัน การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การใช้สระว่ายน้ำเดียวกัน การสัมผัสกันตามปกติ และไม่แพร่เชื้อโดยยุงหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ
8. การร่วมเพศทางทวารหนักจะมีโอกาสติดเชื้อเอดส์มากกว่าการร่วมเพศทางช่องคลอดมากน้อยเพียงใด
โอกาสของการติดเชื้อจากการร่วมเพศทางทวารหนักและช่องคลอดนั้นปัจจุบันพบว่าการร่วมเพศทั้งสองอย่างมีโอกาสติดเชื้อเอดส์ได้พอๆกัน เพราะฉะนั้นถ้าหากจะมีกิจกรรมทางเพศควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ไม่ว่ากับชายหรือหญิงก็ตาม
9. ถ้าคุณไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง จะไม่มีโอกาสติดเชื้อเอดส์ใช่หรือไม่
ไม่ใช่ ถึงแม้ว่าท่านจะไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็ไม่อาจจะเป็นหลักประกนได้ว่าจะไม่ติดเชื้อเอดส์ ฉะนั้น เราควรจะป้องกันตนเองไว้ก่อน โดยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ และช่วยเผยแพร่ความรู้ให้คนรอบข้างรู้วิธีหลีกเลี่ยงการติดเชื้อเอดส์ด้วย
10. อัตราการเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ในแต่ละกลุ่ม หรือสังคมแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร
นอกจากพฤติกรรมส่วนตัวแล้ว อัตราเสี่ยง จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสังคมถ้าเป็นบุคคลที่อยู่ในสังคมที่มีโรคชุกชุม เช่น ในสหรัฐอเมริกา บราซิล ยูกันดา ฝรั่งเศส เป็นต้น บุคคลที่อยู่ในสังคมนั้นก็จะมีอัตราการเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าสังคมที่มีผู้ติดเชื้อเอดส์น้อย















การป้องกัน
1. ถ้าทราบว่ามีเชื้อเอดส์ในร่างกาย แต่ยังมีความต้องการทางเพศ และไม่ต้องการให้ไปติดผู้อื่นจะทำอย่างไร ผู้ติดเชื้อในระยะแรกยังไม่มีอาการ สุขภาพจะเหมือนคนปกติทั่วไปจึงยังมีความต้องการทางเพศอยู่ถ้าไม่ต้องการให้ไปติดผู้อื่น ควรหาทางออกด้วยการกระทำต่อไปนี้คือ
- หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ เพื่อลดความต้องการทางเพศลงและยังทำให้ร่างกายแข็งแรง ด้วย
- อาจต้องสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองด้วยมือ หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ทำความสะอาดดีแล้ว
- หากจะร่วมเพศให้ใช้ถุงยางอนามัย และปฏิบัติการทางเพศอย่างปลอดภัยที่เรียกว่า “Safe sex”
2. ภรรยาจะแนะนำอย่างไร เมื่อสามีไปเที่ยวหญิงบริการ เรื่องนี้ทางภรรยาและสามีควรคุยกันให้เข้าใจ เพราะการเที่ยวผู้หญิงของสามีนี้ ควรจะดูปัญหาในครอบครัวให้รอบคอบว่า เพราะเหตุใดสามีจึงชอบเที่ยว เช่น ปัญหาที่พบกันบ่อย ๆ คือ
- สามีมีนิสัยไม่ค่อยจะรับผิดชอบ ชอบเที่ยวกลางคืน ชอบลองของใหม่
- ภรรยาชอบทำตัวน่าเบื่อหน่าย จู้จี้ขี้บ่น เวลาจะหลับนอนร่วมกันก็สร้างปัญหาทำให้สามีเบื่อหน่าย เป็นต้น
- สามีที่ชอบเที่ยวเตร่ สังสรรค์บ่อยๆในหมู่เพื่อนผู้ชาย ซึ่งสุดท้ายก็จะพากันไปเที่ยวผู้หญิงเพราะฤทธิ์ของสุรา ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ ภรรยาสามารถคุยกับสามีได้ โดยการพูดคุยกันว่าการเที่ยวควรจะป้องกันตัวอย่านำเชื้อโรคมาติดลูกติดเมีย และทางที่ดีที่สุดสามีไม่ควรจะเที่ยวเลย
3. ภรรยาจะป้องกันตนเองได้อย่างไร เมื่อสามีมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ ควรพูดกับสามีโดยตรง เพื่อให้สามีใช้ถุงยางอนามัย หรือในปัจจุบันมีถุงยางสำหรับสตรี เริ่มที่จะออกวางขายแล้ว
4. สามีควรพูดถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยกับภรรยาหรือไม่ ควรอย่างยิ่ง หากตัวสามียอมรับกับตนเองว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเอดส์ เพราะอาจ เป็นสาเหตุของการนำเชื้อเอดส์มาติดภรรยาได้
5. การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองมีโอกาสติดเชื้อเอดส์หรือไม่ ไม่มีโอกาสติดเชื้อเอดส์ เพราะการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ไม่ได้สัมผัสกันน้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอดของผู้ติดเชื้อ 6. ถ้ายังติดยาเสพติดอยู่ และต้องใช้เข็มฉีดยาร่วมกันจะต้องทำอย่างไรบ้าง ควรล้างทำความสะอาดเข็มและกระบอกฉีดยาด้วยน้ำยาคลอร็อกซ์ หรือน้ำยาไฮเตอร์ หลายๆครั้ง แต่วิธีนี้ก็ไม่ใช่วิธีที่ป้องกันการติดเอดส์ได้ 100% แต่สามารถลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ได้
7. ถ้าจะนำผู้ติดเชื้อเอดส์มากักกัน เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่ระบาดไปสู่บุคคลอื่นเป็นการสมควร หรือไม่ ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะการที่จะให้ผู้อื่นติดเชื้อเอดส์จำนวนมากมายมารับการกักกัน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมขึ้นได้ ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์บางรายไม่ได้ติดจากพฤติกรรมของเขาเองเช่นมารกที่เกิดมาจากมารดาที่ติดเชื้อเอดส์ และนอกจากนี้เราไม่สามารถบอกได้ว่าใครติดเชื้อเอดส์ เพราะผู้ติดเชื้อระยะแรกจะไม่มีอาการและแข็งแรงเป็นปกติ วิธีป้องกันการแพร่ระบาดที่ดีคือ ให้ความรู้และแนวทางในการปฏิบัติตนที่จะไม่ให้ติดเชื้อเอดส์ หรือแพร่ไปสู่ผู้อื่น
8. มีน้ำยาอะไรที่ใช้ทำลายเชื้อเอดส์ได้ น้ำยาที่สามารถทำลายเชื้อเอดส์ได้มีดังต่อไปนี้ คือ
- โซดียม ไฮโปคลอไรด์ 0.1 - 0.5 % แช่นาน 15-30 นาที
- แอลกอฮอล์ 25-95 % แช่นาน 15-30 นาที
- ไอโซโปรบิล 35-70 % แช่นาน 15-30 นาที
- ทิงเจอร์ไอโอดีน แช่นาน 15-30 นาที
- ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3-6 % แช่นาน 15-30 นาที
- ฟอร์มาลีน 2-4 % แช่นาน 15-30 นาที
- กลูตาอัลดีไฮด์ แช่นาน 15-30 นาที
- ไดโซล 0.5-3 % แช่นาน 15-30 นาที
- ฟีนอล 5 % แช่นาน 15-30นาที
- โซเดียมไฮดรอกไซด์ 30 mmol แช่นาน 15-30 นาที
- โนนิเนท พี 40 0.5-1% แช่นาน 15-30 นาที นอกจากนี้ความร้อนมากกว่า 55 องศาเซลเซียส นาน 10-20 นาที ก็สามารถทำลายเชื้อได้
9. สบู่ใช้ทำลายเชื้อเอดส์ได้หรือไม่ แม้สบู่จะไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อโดยตรง แต่ก็ช่วยชำระล้างและลดปริมาณเชื้อลงได้มากกว่า 80? % หากทำความสะอาดอย่างดีทำให้ลดโอกาสติดเชื้อเอดส์ลงได้
10. จะมีทางยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ได้หรือไม่ ได้ โดยการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโรคเอดส์ที่ถูกต้อง พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การไม่ใช้เมฉีดยาร่วมกัน การไม่เที่ยวหญิงบริการ เลิกการสำส่อนทางเพศ ในขณะเดียวกันการใช้ถุงยางอนามัย ก็จะเป็นหนทางเดียวที่จะชะลอการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ได้ และในกรณีที่ติดเชื้อแล้วควรจะระมัดระวังไม่รับเชื้อเพิ่มมาอีก พยายามรักษาสุขภาพให้ดีให้แข็งแรงอยู่เสมอ และไม่แพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น ถึงแม้จะไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเอดส์ แต่เราก็มีความรู่พอที่จะป้องกันมันได้
11. ถุงยางอนามัยบางชนิดมีน้ำยาฆ่าเชื้อเอดส์อยู่ด้วยใช่หรือไม่ ใช่ ถุงยางบางชนิดมี Nonoxynol-9 หรือ Nonoxynol-11 ซึ่งสามารถฆ่าเชื้ออสุจิได้ และช่วยฆ่าเชื้อเอดส์ได้บ้าง ทำให้โอกาสติดเชื้อเอดส์มีน้อยลง>
12. ถุงยางอนามัยดีอย่างไร
- ถุงยางอนามัยถ้าใช้อย่างถูกวิธี สามารถช่วยในการคุมกำเนิด โดยมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาเม็ดคุมกำเนิด
- ถุงยางอนามัยไม่มีผลข้างเคียงเหมือนวิธีการอื่น
- ถุงยางอนามัยใช้เฉพาะเวลาที่ต้องการเท่านั้น
- ถุงยางอนามัยไม่ทำให้หญิงบริการต้องเสี่ยงและต้องคอยระมัดระวังตัว - ถุงยางอนามัยซื้อหาได้ง่าย ใช้ง่าย ไม่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
- ถุงยางอนามัยช่วยป้องกันการแพร่กระจายโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมทั้งโรคเอดส์
- ถุงยางอนามัยช่วยให้ฝ่ายชายหลั่งน้ำอสุจิช้าลงบ้าง จนพอดีกับความรู้สึกสุดยอดของฝ่าย หญิง จึงมีการนำมาใช้ในการรักษาภาวะที่เกิดการหลั่งน้ำอสุจิเร็วของผู้ชาย
- ถุงยางอนามัยสามารถตรวจเช็คได้หลังจากมีเพศสัมพันธ์ว่าฉีกขาดหรือไม่และสามารถมั่น ใจได้ถ้าใช้อย่างถูกวิธี
13. การใช้ถุงยางอนามัยให้ถูกต้องควรจะปฏิบัติอย่างไร ข้อแนะนำเกี่ยวกับถุงยางอนามัย
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- เลือดซื้อถุงยางที่มีคุณภาพโดยดูวันที่ผลิตและวันหมดอายุ (ถ้าไม่มีวันหมดอายุ ให้นับจากวันที่ผลิตไป 3 ปี ถ้ายังไม่เกิน 3 ปี แสดงว่ายังใช้ได้)
- เลือกใช้ขนาดของถุงยางอนามัยให้เหมาะกับขนาดของตนเอง ถ้าเล็กไปมักจะฉีกขาดง่าย ถ้าใหญ่เกินมักจะหลุดง่าย
- จงสวมถุงยางก่อนที่จะมีกิจกรรมทางเพศสัมพันธ์
- บีบไล่ลมออกจากส่วนปลายถุงยางตรงที่เป็นกระเปาะก่อนจะสวมเสมอ เพื่อไม่ให้ลมที่ค้างอยู่เป็นตัวทำให้ถุงยางแตก
- อย่าดึงถุงยางขึ้นมาจนสุด ให้เหลือส่วนปลายตรงที่เป็นกระเปาะไว ้สำหรับรองรับน้ำอสุจิ ิเสมอ
- ให้คลี่ถุงยางออกจนคลุมถึงส่วนโคนของอวัยวะเพศด้วย
- ถ้าถุงยางแตกระหว่างมีเพศสัมพันธ์อยู่ ให้นำออกมาเปลี่ยนและสวมอันใหม่ทันที
- เมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิแล้ว ให้ถอดถุงยางออกในระหว่างที่อวัยวะเพศยังแข็งอยู่ห้ามแช่อวัยวะเพศไว้ในช่องคลอด
- การถอดถุงยางให้ใช้กระดาษชำระพันรอบขอบถุงยางให้กระชับอวัยวะเพศไว้ก่อน แล้วถอดถุงยางออก อย่าให้เปื้อนส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
- เมื่อจะมีเพศสัมพันธ์ครั้งใหม่ให้เปลี่ยนถุงยางอนามัยทุกครั้งเสมอ
- ถ้าจะใช้สารหล่อลื่น ควรใช้สารหล่อลื่นเช่น ky หรือ xy เยลลี่ห้ามใช้สารหล่อลื่นที่มีน้ำมันอยู่ด้วย เช่น ครีมแต่งผม หรือน้ำมันอื่นๆ เพราะจะทำให้รั่วและขาดง่าย ห้ามใช้น้ำลายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นตัวหล่อลื่นเพราะอาจมีเชื้ออยู่ - ถุงยางที่ยังไม่ได้ใช้ ถ้าเป็นไปได้ให้เก็บไว้ในที่เย็นและแห้ง เพื่อให้มีอายุใช้นาน ถ้าถุงยางมีลักษณะเหนียวเหนอะหรือสงสัยว่าจะแตก ไม่ควรนำมาใช้


























การรักษา
1. การเอาเลือดของผู้ที่ติดเชื้อเอดส์ออกมาไหลเวียนผ่านเครื่องความร้อนแล้วกลับคืนเข้าร่างกายเป็นวิธีรักษาได้หรือไม่
เคยมีรายงานว่ามีคนติดเชื้อเอดส์ 1 ราย ที่ได้รับการทดลองรักษาโดยนำเลือดออกมาไหลเวียนผ่านเครื่องให้ร้อนประมาณ 56 องศาเซลเซียส และต่อมาตรวจไม่พบเชื้อเอดส์ในเลือดของคนนั้นอีกเลย แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ ลองใช้วิธีกับคนอื่นกลับไม่ได้ผล และยังไม่แน่ใจว่าคนแรกนั้นจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ในอวัยวะอื่นใดหรือไม่ นักวิทยาศาสตร์จึงยังไม่ยอมรับวิธีนี้เป็นวิธีการรักษาโรคเอดส์
2. ยาที่ใช้รักษาโรคเอดส์มีอะไรบ้าง
ยาที่มีการทดลองใช้กันค่อนข้างมากอยู่ในขณะนี้โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาคือ Zidovudine (AZT) ,2,3 Dideoxycytidine, Suramin, Atimony tungstate (HPA-23), Foscanet, Rifabutin, CS-85, CS-87, HIPA, HPG-30, SIllcotungstate, Peptide-T, Dextran Sulphate , AL721, Castanospermine, interferon, Ampligen, ABPP, Avaro, Ribavirin, interlukin-2, GM-CSF, Methionine, Enkephalin, Thymopentin, Imreg-1, Imreg-2, Imuthiol, Carrysyn, Videx(ddI) เป็นต้น ยาเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฤทธิ์สามารถยับยั้งไวรัสได้ในหลอดทดลอง แต่หลายชนิดเมื่อเข้าไปในร่างกายแล้ว ไม่ได้ผล บางชนิดมีพิษหรือผลข้างเคียงมากจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ บางชนิดต้องให้โดยการฉีดเท่านั้น และหลายชนิดยังเป็นยาทดลอง ไม่สามารถหาซื้อตามท้องตลาดได้ ส่วนใหญ่ที่พอมีขายตามท้องตลาด (เมืองนอก) เป็นยาที่มีราคาแพงมากทั้งสิ้น แต่ก็ไม่มียาใดรักษาโรคให้หายขาดได้ ยาที่ยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายขณะนี้คือAZT และที่กำลังทดลองได้ผลดีเช่นเดียวกัน และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า AZT ก็คือ VIDEX (ddI)
3. ในอนาคตจะมียาที่สามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้หรือไม่
มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะมนุษย์มีการพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยีที่สูง โรคเอดส์ถึงแม้จะเป็นไวรัสที่มีการพัฒนาสูงสุดของบรรดาไวรัสทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก แต่ก็ไม่น่าจะเกินความสามารถของมนุษย์อย่างแน่นอน
4. สมุนไพรสามารถรักษาโรคเอดส์ได้หรือไม่
การทดลองใช้สมุนไพรในการรักษาโรคเอดส์ได้เกิดข้นในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่เนื่องจากยังไม่ได้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าสามารถทำการรักษาได้จึงควรจะรอผลการวิจัยเรื่องสมุนไพรจากนักวิทยาศาสตร์ก่อน ไม่ควรเสี่ยงเป็นเครื่องทดลอง เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตราย และเสียทรัพย์ให้แก่คนที่หลอกลวงได้
5. มะเร็งที่เป็นในผู้ป่วยโรคเอดส์มีทางรักษาได้หรือไม่
มะเร็งที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคเอดส์คือ มะเร็งของหลอดเลือดที่ผิวหนัง และมะเร็งของต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งที่สามารถรักษาได้ ถึงแม้การรักษาจะค่อนข้างยาก หรือผลการรักษาจะไม่ค่อยดี แต่ก็สามารถทำให้มะเร็งไม่ลุกลามหรือไม่แพร่กระจายต่อไปได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่เสียชีวิตจากมะเร็งนั้นๆและมีอายุยืดยาวต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง
6. โรคติดเชื้อแทรกซ้อนหรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาสมีทางรักษาหรือไม่
การรักษาโรคแทรกซ้อนอื่นๆสามารถรักษาได้ เพียงแต่รักษายากกว่าในคนปกติและส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะกลับติดโรคอื่นๆซ้ำอีก
7. คนที่ติดเชื้อเอดส์เป็นคนที่สิ้นหวังแล้ว ใช่หรือไม่
ไม่ใช่ เพราะ
- หากดูแลรักษาสุขภาพตนเองให้ดี ระยะฟักตัวของโรคเอดส์โดนเฉลี่ยประมาณ 7-8 ปี และอาจจะไม่ปรากฏอาการในบางรายได้นานกว่า 10 ปี
- การพัฒนายารักษาโรคเอดส์อยู่ระหว่างการดำเนินการของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก จึงมีโอกาสที่จะค้นพบยารักษาได้ในอนาคต
8. เลิกยาเสพติดแล้วเชื้อเอดส์จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง
ถ้าเลิกยาเสพติดได้สุขภาพจะทรุดโทรมช้าลงเชื้อเอดส์จะไม่เพิ่มเร็วขึ้นเหมือนกับการใช้ยา เสพติดต่อไป และจะไม่กลายเป็นโรคเอดส์ระยะสุดท้ายเร็วนัก
9. ถ้าถ่ายเลือดในตัวออกหมดแล้วเปลี่ยนเลือดใหม่หมดจะหายจากโรคเอดส์หรือไม่
ไม่หายขาด เพราะเชื้อเอดส์ยังมีอยู่ในเซลล์ของร่างกายได้อีกหลายแห่ง เช่น เซลล์ของสมอง เซลล์ของลำไส้ น้ำอสุจิ จึงยังจะมีเชื้อเหลืออยู่ นอกจากนี้การเปลี่ยนเลือดทั้งตัวต้องใช้เลือดจำนวนมากจากคนอื่น ๆ อีกหลายคนซึ่งอาจมีอันตรายจากการถ่ายเลือดได้
10. ถ้าสามีภรรยาติดเชื้อเอดส์จากการเสพยาเสพติดโดยใช้เข็มร่วมกันและยังเสพยาด้วยกัน จะทำให้เชื้อเอดส์เพิ่มขึ้นหรือไม่
จะทำให้เชื้อเอดส์เพิ่มเร็วขึ้น เพราะร่างกายทรุดโทรมอ่อนแอลง จากการเสพยาประกอบกับผู้ติดเชื้อเอดส์ เชื้อในร่างกายจะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว หากยังคงใช้ยาเสพติดอยู่ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคเอดส์เร็วขึ้น และสามีคู่นี้ควรจะใช้ถุงยางอนามัย ในการร่วมเพศเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้รับเชื้อเอดส์เพิ่มขึ้นและป้องกันการตั้งครรภ์เพราะเชื้อเอดส์จากมารดาอาจถ่ายทอดไปยังทารกใน ครรภ์ได้
11. ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์ ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร
ดูแลสุขภาพให้ดี โดย
- ทำจิตใจให้แจ่มใส
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ไม่รับเชื้อเอดส์เพิ่ม
- ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ลดหรือเลิกการสูบบุหรี่ และสุรา เพราะจะทำให้ร่างกายอ่อนแอยิ่งขึ้น การป้องกันตนไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
- ต้องแยกเครื่องใช้ส่วนตัวบางชนิด เช่นแปรงสีฟัน มีดโกน
- ลดคู่นอนให้น้อยลง และเลิกการมีพฤติกรรมเสี่ยง
- ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาและกระบอกฉีดยาที่ไม่สะอาดร่วมกับผู้อื่น - ไม่ให้เลือด น้ำหนอง น้ำเหลือง น้ำคัดหลั่งของร่างกาย เปรอะเปื้อนจามที่ต่าง ๆ
- งดบริจาคเลือด อวัยวะของตนแก่ผู้อื่น
- ไม่ควรตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรถ้ามีทางเลือกอื่น หากมีอาการเจ็บป่วยอื่นๆให้รีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน และแจ้งให้แพทย์ทราบถึงภาวะการติดเชื้อเอดส์ของตน





















น.ส.สุรีย์ภรณ์   ทัพแสนลี
รหัส 511171048
หมู่เรียนที่ 1  วิชาเอกสังคมศึกษา
SC.AS
CP0101_511171048@hotmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น