วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ความรู้เกี่ยวกับไข้หวัดนก


ความรู้เกี่ยวกับไข้หวัดนก
พ.อ.ถนอม  สุภาพร

ข้อมูลทั่วไป
การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกจากเชื้อ H5N1 มีรายงานครั้งแรกในประเทศฮ่องกงในปี พศ.๒๕๔๐  โดยพบการติดเชื้อในมนุษย์จำนวน ๑๘ ราย เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ระบาดในเป็ดไก่ และนก ที่   พบว่าคนที่ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง ๓๓%  มีอัตราการเกิดปอดอักเสบสูงถึง ๖๑% และจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวมากถึง ๕๑ %  ต่อมาในปี พศ.๒๕๔๖ ก็มีรายงานการเจ็บป่วยในจีนซึ่งพบในคนที่เดินทางกลับมาจากประเทศฮ่องกง  จากนั้นก็มีรายงานการป่วยอย่างต่อเนื่องในคนที่ประเทศ กัมพูชา  จีน  อินโดนิเซีย  ลาว  มาเลเซีย  ไทย และเวียตนาม  รวมทั้งในประเทศไทย  จนถึงปัจจุบันมีการยืนยันว่ามีผู้ป่วยอย่างน้อย เกือบหนึ่งร้อยราย  ในจำนวนนี้  พบว่าประมาณ ๖๘% เสียชีวิตไปแล้ว

การระบาดของไข้หวัดนกจากเชื้อ H5N1 ที่เกิดในปัจจุบันมีลักษณะบางอย่างน่าสนใจ ๒ ประการ  ได้แก่  ประการแรก  ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอายุยังไม่มาก  ประการที่ ๒ คือผู้ที่ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก  ในอดีตที่ผ่านมา  ได้เคยมีการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่อันเกิดจากไวรัสอันเกิดจากนกในปี พศ.๒๕๐๐ และในปี พศ.๒๕๑๑   ในการระบาดครั้งนั้นพบว่าไวรัสที่เป็นต้นเหตุมีลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ที่รู้จักกันมาก่อนได้แก่เชื้อ H2N2 และ H3N2 ตามลำดับ  ย้อนหลังไปในอดีต  เคยมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ในปี พศ.๒๔๖๑ อันเป็นเหตุให้มนุษย์ล้มตายภายในปีเดียวมากกว่าจำนวนคนที่ตายจากโรคกาฬโรครวมกัน  ดังนั้นเมื่อมีการระบาดของเชื้อหวัดจากไข้หวัดนกในปี พศ.๒๕๔๗ และ ๒๕๔๘ ซึ่งทราบในเวลาต่อมาว่าเป็นเชื้อ H5N1 จึงมีความหวาดวิตกว่าอาจทำให้เกิดการติดมาถึงมนุษย์แล้วทำให้เกิดการเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมากเหมือนในอดีต

ในปัจจุบันเชื้อไข้หวัดนกชนิด H5N1 ระบาดหนักในสัตว์ปีกที่เป็นสัตว์เลี้ยงและนกป่า ในเอเชีย ในยุโรป  แต่การระบาดในมนุษย์จริงๆ ยังพบไม่มาก  แต่นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าเชื้อนี้อาจมีการกลายพันธุ์แล้วมีการผสมข้ามสายพันธ์กับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เกิดในมนุษย์ได้อันจะก่อให้เกิดการระบาดจากมนษย์สู่มนุษย์อย่างรวดเร็วเหมือนในอดีต  นอกจากนี้  สุกรและแมวเป็นสัตว์ที่สามารถติดเชื้อไวรัสจากนกหรือจากมนุษย์ และอาจถ่ายทอดเชื้อต่อไปยังสัตว์อื่นๆ รวมทั้งมนุษย์ด้วย ทั้งยังมีความสามารถที่ทำให้เกิดปัญหาเชื้อไวรัสไข้หวัดนกกลายพันธุ์  ทำให้องค์การอนามัยโรคประกาศให้การระบาดของไวรัสไข้หวัดนกจากเชื้อ H5N1 เป็นการระบาดที่ถือว่าเป็นปัญหาวิกฤติทางสาธารณสุขของทั้งโลก  และมีแนวโน้มว่าว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่มีรายงานระบาดใหญ่ทั่วโลกไปแล้ว

การระบาดจากมนุษย์สู่มนุษย์
ปัจจุบันมีรายงานการติดต่อระหว่างมนุษย์ด้วยกันในประเทศเนเธอร์แลนด์  บริธิชโคลัมเบีย  และในอิยิปต์  รายงานในประเทศไทยที่ชัดเจนในรอบปีที่ผ่านมาระบุว่าเด็กหญิงอายุ ๑๑ ปีทำให้มารดาซึ่งเฝ้ารักษาพยาบาล ติดเชื้อและทั้งเด็กและมารดาเสียชีวิตด้วยปัญหาปอดอักเสบ  ขณะเดียวกัน ป้าของเด็กก็ล้มป่วยในเวลาต่อมาด้วยอาการระบบทางเดินหายใจแต่รอดชีวิตได้เมื่อได้รับการรักษาด้วยยา oseltamivir  ทั้งมารดา และป้าได้รับการตรวจยืนยันว่ามีการเจ็บป่วยอันเกิดจากเชื้อ H5N1  นอกจากนี้ยังพบว่าสัตว์แพทย์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ๓ คนติดเชื้อไวรัสสายพันธ์ H7N7 จากนกแล้วถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้  ทำให้เพิ่มความหวาดกลัวการระบาดของเชื้อไข้หวัดนก  ไม่ว่าจะเป็นจากสายพันธุ์ H5N1 หรือ H7N7 ก็ตามที

อาการการเจ็บป่วยที่เกิดจากโรคไข้หวัดนก
พบได้ตั้งแต่มีอาการเล็กน้อย อาจหายได้เอง  ไปจนถึงมีอาการหนักทางระบบทางเดินหายใจ  อาการเหล่านี้ได้แก่  เป็นไข้สูง (พบทุกราย)  อาการความผิดปกติของทางเดินหายใจส่วนต้นได้แก่มี น้ำมูกไหล  ไอ  จาม พบได้ประมาณ ๖๐-๗๐%  อาการรุนแรงจากปอดอักเสบ  ได้แก่ ไข้สูง  ไอ  หอบ พบได้ ๕๘%  อาการทางเดินอาหาร  ได้แก่ ท้องเดิน ปวดท้อง คลื่นไส้  อาเจียน  พบในผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่ง  และประมาณหนึ่งในห้ามีโลหิตจางและไขกระดูกลดการสร้างเม็ดเลือดทุกประเภท  มีรายงานว่าบางรายมีอาการการรู้สึกตัวลดลง  ปวดศรีษะ และอาจชักจากปัญหาสมองอักเสบ  ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากเชื้อไข้หวัดนกมักเป็นผู้สูงอายุ  ผู้ที่รับการรักษาช้าเกินไป  ผู้ที่มีปอดอักเสบ  และผู้ที่มีจำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติมาก

แนวทางการวินิจฉัยของแพทย์
การเจ็บป่วยจากโรคไข้หวัดนกมีอาการคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดใหญ่  และโรคจากไวรัสที่ก่อโรคทางเดินหายใจอื่นอีกเป็นจำนวนมาก  แต่ถ้าผู้ป่วยหรือญาติให้ข้อมูลว่าการเจ็บป่วยมีความสัมพันธ์กับการสัมผัสสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคและเสียชีวิต  แพทย์จะส่งเลือด  น้ำมูล  เสมหะ ไปตรวจหาเชื้อ H5N1

ความหวังเรื่องวัคซีน
การพัฒนาวัคซีนที่จะใช้ในมนุษย์เป็นจำนวนมากมีวิธีการคือฉีดเชื้อเป็นจำนวนมากลงไปในสัตว์ปีก เช่น ไก่  แต่เชื้อไวรัสในปริมาณนี้มักทำให้สัตว์เหล่านี้เสียชีวิต  ทำให้ผลิตวัคซีนเป็นจำนวนมากไม่ได้   นอกจากนี้โรงงานผลิตต้องมีกระบวนการระมัดระวังการติดต่อเป็นอย่างดีซึ่งยังมีโรงงานผลิตที่มีจำนวนยังไม่มาก  โรงงานเหล่านี้ยังมีภาระที่ต้องผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน
ในปี พศ.๒๕๔๐ ซึ่งมีการระบาดเกิดขึ้น  มีการทดลองวัคซีนที่ทำจากเป็ด  แต่พบว่าไม่สามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ในมนุษย์   ในปัจจุบันมีการทดลองใช้ไวรัสสายพันธุ์ H5N3 มาพัฒนาเป็นวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทานที่มีผลต่อเชื้อ H5N1 ในมนุษย์ได้  แต่การนำมาใช้อย่างกว้างขวางยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองพัฒนา

การระวังป้องกัน
มีความจำเป็นต้องให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์  และผู้ที่ปฏิบัติการควบคุมการระบาดในสัตว์และผู้ที่เข้าทำลายสัตว์ที่สงสังว่ามีการติดเชื้อ  อีกทั้งผู้ที่ต้องดูแลผู้ที่ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยจากการติดเชื้อไข้หวัดนก  การป้องกันเบื้องต้นทำโดยสวมใส่ถุงมือ  สวมใส่เสื้อกาวน์  หน้ากากป้องกันการติดเชื้อโดยการหายใจชนิด N95  โดยอุปกรณ์ทุกอย่างใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย   ในโรงพยาบาลเมื่อมีผู้ป่วยต้องทำการแยกผู้ป่วยออกจากผู้ป่วยอื่นๆโดยเคร่งครัด

การให้การรักษา
เนื่องจากข้อมูลการใช้ยาในโรคไข้หวัดนกยังมีไม่มาก  และมีการทดลองใช้ยาหลายอย่างมาก่อนเช่น amantadine, rimantadine, ribavirin แต่ผลที่ได้ก็ไม่เป็นที่น่าพอใจ  ยิ่งไปกว่านั้น พบว่าในการระบาดในปี พศ.๒๕๔๖ เชื้อไข้หวัดนก H5N1 ดื้อต่อยา amantadine
ในปัจจุบันยาที่อาจใช้ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสที่อาจได้ผล ได้แก่ ยา oseltamivir (Tamiflu) และยา zanamivir (Relenza)  อย่างไรก็ตาม  หากใช้เมื่อช้าเกินไป  ก็พบว่ายาดังกล่าวใช้ไม่ได้ผล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น