วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)

โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)

โรคทริคิโนซิสเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์ถึงคน พยาธิตัวกลมที่ทำให้เกิดโรคนี้ คือ ทริคิเนลล่า สไปราลิส (Trichinella spiralis) พบได้มากสุด ในสัตว์กินเนื้อที่เป็นสัตว์ป่า เช่น หมูป่า รองลงมาเป็นสัตว์ที่ใช้ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก อย่างไรก็ดีในสภาพแวดล้อมที่จำกัด พบได้ในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม โรคนี้พบการระบาดได้เกือบทั่วโลก
การติดต่อ

รูปวงจรชีวิต
โรคนี้จะแพร่มาสู่คนได้โดยการกินเนื้อสัตว์ ที่มีตัวอ่อนของพยาธิในถุงหุ้มที่แฝงอยู่ในกล้ามเนื้อดิบๆ หรือสุกๆดิบๆ เช่น ลาบ แหนม หลู้ ก้อย น้ำตก จากนั้นพยาธิจะเข้าไปในร่างกาย ถูกย่อยในกระเพาะ ถุงหุ้มตัวพยาธิจะถูกย่อยออก ทำให้พยาธิออกมาเจริญเติบโต เป็นตัวเต็มวัยภายใน 2-3 วัน ซึ่งจะผสมพันธุ์กันในลำไส้เล็ก ออกลูกเป็นตัวอ่อนจำนวนมาก พยาธิตัวเมีย 1ตัว จะออกตัวอ่อนได้ประมาณ 1,000 –1,500 ตัว หรือมากถึง 10,000 ตัว ขนาดความยาวของตัวอ่อน 0.8-1 มม. พยาธิตัวอ่อนจะไชเข้าไปในระบบน้ำเหลือง และเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิต ในที่สุดจะแพร่ไปทั่วร่างกาย จากนั้นจะเข้าไปฝังตัวอยู่ตามกล้ามเนื้อต่างๆ กล้ามเนื้อที่พบมากคือกระบังลม กล้ามเนื้อตา กล้ามเนื้อที่อยู่ระหว่างกระดูกซี่โครง กล้ามเนื้อแก้ม ลิ้น และน่องนอกจากนี้ยังพบในอวัยวะอื่นของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ ปอด สมอง ตับ ตับอ่อน และไต พยาธิตัวอ่อนที่ขดตัวอยู่ในกล้ามเนื้อจะสร้างถุงหุ้มหรือซิสต์ (cyst) ล้อมรอบและจะมีการจับตัวของหินปูน ใน 1 เดือนหลังการติดพยาธิ พยาธิตัวอ่อนในถุงหุ้มนี้อาจมีชีวิตอยู่ในตัวสัตว์ได้นานถึง 11-24 ปี แต่จะไม่มีการเจริญเติบโตจนกว่าเนื้อสัตว์ที่มีถุงหุ้มของพยาธิจะถูกกินเข้าไป
อย่างไรก็ดีอาจมีพยาธิตัวอ่อนบางตัวไม่เจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวแก่ในลำไส้เล็กแต่จะถูกขับออกมากับอุจจาระ ในกรณีเช่นนี้สัตว์อื่นสามารถติดโรคได้โดยการกินอุจจาระที่มีตัวอ่อนพยาธิปนเปื้อน


อาการ
อาการของโรคในสัตว์ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิที่ได้รับเข้าไป ในสุกรถ้าได้รับพยาธิไม่มาก จะไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็น แต่ในรายที่ได้รับพยาธิจำนวนมากจะทำให้สุกรป่วย เช่น มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร ผอมแห้ง หายใจลำบาก บวมตามหน้า เจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ มีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของขา โดยเฉพาะขาหลังจะแข็งทำให้มีความลำบากในการลุกขึ้นยืนหรือเดิน มีขนหยาบกร้าน ในสุนัขและแมว ถ้าได้รับพยาธิจำนวนมาก จะมีน้ำลายไหล ปวดกล้ามเนื้อมากจนไม่สามารถจะเดินได้ จะมีขนหยาบกร้าน

อาการของโรคในคนแบ่งเป็น 3 ระยะคือ
ระยะที่ 1 พยาธิตัวแก่อยู่ในลำไส้เล็ก ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคทางเดินอาหาร ได้แก่อาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และอาจมีอาการอ่อนเพลีย อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังกินเนื้อที่มีพยาธิเข้าไป ระยะนี้กินเวลาประมาณ 1 สัปดาห์
ระยะที่ 2 ตัวอ่อนของพยาธิกระจายไปทั่วร่างกาย และไชเข้ากล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อมาก หายใจลำบาก เคี้ยวอาหารลำบาก กลืนอาหารและน้ำลำบาก เปลือกตาบวม ตาแดง เลือดออกใต้ตา ปวดตามกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก ขึ้นอยู่กับกล้ามเนื้อส่วนใดถูกพยาธิตัวอ่อนไช ผู้ป่วยบางรายมีอาการผื่นขึ้นตามตัว เลือดออกใต้เล็บ บางรายมีอาการของเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือปอดอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ ระยะนี้พบได้ตั้งแต่ประมาณ สัปดาห์ที่ 2 ถึงสัปดาห์ที่ 6 หลังจากได้รับพยาธิ
ระยะที่ 3 จะพบระหว่างที่พยาธิตัวอ่อนเริ่มสร้างถุงหุ้มในสัปดาห์ที่ 6 หลังจากได้รับพยาธิเป็นต้นไป ระยะนี้อาการของผู้ป่วยจะดีขึ้น แต่อาจมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียไปอีกนาน
อย่างไรก็ตาม มีอยู่หลายรายที่ได้รับเชื้อแล้วไม่มีอาการ สามารถตรวจพบพยาธิได้โดยการตรวจชิ้นเนื้อหลังจากถึงแก่กรรมไปแล้ว

การวินิจฉัยโรค
โดยทั่วไปควรประกอบด้วย
1. ประวัติการกินเนื้อสัตว์ดิบ หรือดิบๆสุกๆ
2. อาการของโรคทริคิโนซิส ได้แก่ มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน ตาบวม ปวดตามกล้ามเนื้อและเลือดออกตามผิวหนัง
3. การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ พบเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil (อีโอสิโนฟิล) สูงขึ้นกว่าปกติมาก
4. การตรวจทางปาราสิตวิทยา (parasitological examination) การตัดชิ้นเนื้อจากกล้ามเนื้อไปตรวจ อาจดูสดโดยใช้กระจกสไลด์ 2 แผ่นกดกล้ามเนื้อให้บางที่สุด พบพยาธิตัวอ่อนขดอยู่ในถุงหุ้มกล้ามเนื้อ หรือใช้น้ำย่อยเทียม (acid-pepsin) แล้วนำมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (microscope)
5. การตรวจภูมิคุ้มกันในซีรั่ม (serological examination) ได้แก่การตรวจโดยการทดสอบผิวหนังหรือโดยวิธีอีไลซ่า (ELISA)
6. การตรวจทางด้านชีวโมเลกุล (molecular examination) ได้แก่ เทคนิคพีซีอาร์ (PCR)

การรักษา
ในสัตว์จะทราบว่าสัตว์ป่วยเป็นโรคนี้ก็ต่อเมื่อสัตว์ได้ล้มตายแล้ว และมีคนนำชิ้นเนื้อมาปรุงเป็นอาหารแบบสุกๆดิบๆจนเกิดการป่วยหรือตาย อย่างไรก็ดีมีรายงานว่า ไทอาเบนดาโซล มีประสิทธิภาพในการกำจัดทั้งพยาธิตัวแก่ที่อยู่ในลำไส้ และพยาธิตัวอ่อนที่อยู่ในกล้ามเนื้อ
ในคน ให้ยาไทอาเบนดาโซล ขนาด 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้กินวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 5-10 วัน ตั้งแต่เริ่มแสดงอาการป่วย และตรวจพบว่าติดเชื้อนี้

การเกิดโรคในประเทศไทย
ในประเทศไทย มีรายงานการระบาดของโรคทริคิโนซิสในคนเป็นครั้งแรก ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในปี พ.ศ. 2505 จากนั้นมีรายงานการเกิดโรคเป็นครั้งคราวแทบทุกปี จนถึงปี พ.ศ. 2524 รวมเกิดโรค 44 ครั้ง มีจำนวนผู้ป่วย 2,046 ราย เสียชีวิต 70 ราย และจากปี พ.ศ.2525 ถึง ปี พ.ศ. 2545 มีการเกิดโรค 88 ครั้ง มีจำนวนผู้ป่วย 3,623 ราย เสียชีวิต 17 ราย อัตราการป่วยตายของช่วง 20 ปีแรกพบว่าสูงกว่าช่วง 20 ปีหลัง อย่างเด่นชัด พบการระบาดทุกภาคของประเทศไทยโดยเฉพาะทางภาคเหนือ มักพบในคนพื้นเมืองทางภาคเหนือซื้อหมูชาวเขาที่เลี้ยงแบบปล่อย นำมาฆ่า แล้วขายหรือแจกจ่ายกันไปทำอาหาร ทำให้พบผู้ป่วยครั้งละมากๆ

การป้องกันและควบคุม
1.       เนื่องจากโรคทริคิโนซีสเป็นโรคสัตว์ที่สามารถติดต่อถึงคนได้ โดยการบริโภคเนื้อสุกรหรือเนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่มีพยาธิตัวอ่อนเข้าไป ด้วยวิธีการปรุงอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ แหนม เป็นต้น ดังนั้นควรแนะนำให้ผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงปรุงอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ให้สุกก่อนบริโภค ด้วยการต้มให้เดือดนาน 30 นาที ต่อเนื้อหนัก 1 กิโลกรัม จึงจะฆ่าพยาธิตัวอ่อนที่อยู่ในเนื้อได้
2.       การเลี้ยงสุกรจะต้องเลี้ยงในคอกที่แข็งแรง หรือในบริเวณที่จำกัด ไม่ปล่อยให้สุกรเพ่นพ่านเที่ยวอาหารกินเอง
3.       ควรให้อาหารสุกรด้วยอาหารสำหรับสุกรโดยตรง ถ้าใช้เศษอาหารนำไปเลี้ยงสุกรจะต้องต้มให้สุก เพื่อทำลายพยาธิตัวอ่อนที่อยู่ในเศษเนื้อสุกรที่อาจติดมากับอาหารได้
4.       กำจัดสัตว์อื่นที่เป็นตัวแพร่โรคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนู เพราะสุกรสามารถติดโรคได้โดยการกินหนูตาย หรือซากหนูที่มีพยาธิเข้าไป ถ้าสัตว์เลี้ยงในบริเวณที่มีการระบาดเกิดตายลงเช่น สุนัข แมว จะต้องฝังให้มิดชิด กลบด้วยปูนขาวผสมดิน
5.       กวดขันการเคลื่อนย้ายสุกรในเขตที่มีโรคระบาด วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ ทำลายสุกรที่สงสัยว่าเป็นโรคทั้งหมด ด้วยการเผาหรือฝังให้ลึก
6.       ไม่ซื้อสุกรจากแหล่งที่เป็นโรค หรือเคยเกิดโรคระบาดมาเลี้ยง
7.       ควรมีโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ที่มีการตรวจเนื้อสัตว์ว่าปลอดจากโรคต่างๆ รวมทั้งโรคทริคิโนซีส ก่อนนำไปจำหน่ายในท้องตลาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น