วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรคฝีดาษไก่ (Fowl Pox)


โรคฝีดาษไก่ (Fowl Pox

สมุฏฐานของโรค
            โรคฝีดาษไก่ เกิดจาก Avian poxvirus เป็น DNA virus จัดอยู่ใน genus Avipoxvirus family Poxviridae ไวรัสมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อม สามารถมีชีวิตอยู่ในสะเก็ดแผลที่แห้งแล้วเป็นเวลานานหลายเดือน

การแพร่โรค
            การติดต่อมี 2 วิธี คือ
            1) การแพร่เชื้อทางตรง คือ ไก่ ได้รับเชื้อไวรัสจากสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อจากขนและสะเก็ดแผลที่แห้งแล้ว หรือ โดยการสัมผัสโดยตรง ผ่านทางผิวหนังที่เป็นแผลหรือมีรอยขีดข่วน หรือ ผ่านเซลล์เยื่อเมือกของระบบหายใจส่วนต้นและช่องปากซึ่งไวต่อการติดเชื้อ
            2) การแพร่เชื้อโดยผ่านพาหะ คือ ยุงและแมลงดูดเลือด พบว่าถ้าแมลงกัดบริเวณตาจะทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณตา จากนั้นเชื้อไวรัสอาจแพร่กระจายไปยังกล่องเสียงโดยผ่านทางท่อน้ำตา ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณระบบหายใจส่วนต้น

ระยะฟักตัวของโรค
            ระยะฟักตัวของโรคในไก่และในนกพิราบประมาณ 4-10 วัน ในนกคานารี ประมาณ 4 วัน

อาการ
            ไก่ที่เป็นโรคจะผอม โตช้า และไข่ลดชั่วคราว อาการที่พบมี 2 แบบ คือ ฝีดาษแห้ง และฝีดาษเปียก โดยอาจพบอาการทั้งสองแบบร่วมกันได้ นอกจากนี้อาจพบภาวะเลือดเป็นพิษจากการติดเชื้อ (systemic form) ในนกคานารี
1)      ฝีดาษแห้ง (cutaneous form) พบรอยโรคบนหงอน เหนียง หนังตา และบริเวณที่ไม่มีขนบนร่างกาย รอยโรคบนหนังตาอาจทำให้มองไม่เห็น ทำให้ไม่สามารถกินน้ำและอาหารได้
2)      ฝีดาษเปียก (diphtheritic form หรือ wet pox) พบรอยโรคบนเยื่อเมือกของช่องปาก หลอดอาหาร และ หลอดลม ซึ่งทำให้เกิดอาการทางระบบหายใจ ตั้งแต่แบบอ่อนจนถึงรุนแรง รอยโรคในช่องปาก ลิ้น คอหอย และส่วนต้นของหลอดลม ทำให้ไม่สามารถกินน้ำและอาหารได้

อัตราการป่วยและอัตราการตาย
            อัตราการป่วยไม่แน่นอน พบตั้งแต่มีการติดเชื้อเพียงไม่กี่ตัวในฝูงจนถึงการติดเชื้อทั่วทั้งฝูง ถ้าไวรัสมีความรุนแรงและไม่มีการควบคุมป้องกันโรค อัตราการตายในไก่และนกพิราบ ในกรณีของฝีดาษแห้งพบว่าค่อนข้างต่ำ แต่อาจสูงถึงร้อยละ 50 ในกรณีที่โรคมีความรุนแรง ฝีดาษเปียก หรือ มี โรคแทรกซ้อน ในนกคานารีอัตราการตายอาจสูงถึงร้อยละ 80-100
รอยโรค
            รอยโรคของฝีดาษแห้ง เริ่มจากตุ่มสีขาวขนาดเล็ก ซึ่งขยายขนาดอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเกิดเป็นตุ่มน้ำ รอยโรคอาจขยายขนาดมารวมกัน จากนั้นจะหนาตัวและหยาบขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือน้ำตาลเข้ม และจะพบการอักเสบและจุดเลือดออกใต้รอยโรคโดยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หรือเร็วกว่านั้น การสร้างสะเก็ดใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ จากนั้นสะเก็ดจะลอกหลุดและเกิดรอยแผลเป็น แต่ถ้าสะเก็ดหลุดออกก่อนที่จะแห้ง จะพบน้ำเหลืองปนหนองบนแผล ระยะเวลาการเป็นโรคของฝีดาษแห้งประมาณ 3-4 สัปดาห์ แต่ถ้ามีการติดเชื้อแทรกซ้อนระยะเวลาการเป็นโรคจะนานขึ้น
            รอยโรคของฝีดาษเปียก เริ่มจากตุ่มสีขาวหรือแผ่นสีเหลืองบนเยื่อเมือกของช่องปาก ลิ้น หลอดอาหาร หรือ หลอดลมส่วนบน จากนั้นรอยโรคจะเปลี่ยนเป็นเนื้อตายสีเหลืองคล้ายเนยแข็ง (diphtheritic membrane) ถ้าลอกออกจะมีเลือดออก การอักเสบอาจขยายไปยัง ไซนัส คอหอย กล่องเสียง และ หลอดอาหาร โดยเฉพาะไซนัสใต้ตา (infraorbital sinus) ทำให้เกิดการบวม

การวินิจฉัยโรค
            การวินิจฉัยโรคฝีดาษแห้ง ดูจากรอยโรคฝีดาษที่ผิวหนัง แต่สำหรับโรคฝีดาษเปียกในไก่ รอยโรคที่พบอาจสับสนกับรอยโรคที่เกิดจากสารพิษจากเชื้อรา ที-2 เชื้อราแคนดิดา และโรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อในนกพิราบอาจสับสนกับรอยโรคที่เกิดจาก Trichomonas gallinae การตรวจทางห้องปฏิบัติการอาจทำโดยการตรวจทางจุลพยาธิวิทยา คือ พบการเพิ่มจำนวนของเซลล์เยื่อบุมากผิดปกติ เซลล์ที่ติดเชื้อจะขยายขนาด พบการอักเสบ และ พบ eosinophillic A-type cytoplasmic inclusion bodies (Bollinger bodies) การแยกและพิสูจน์เชื้อไวรัส ทำโดยการใช้สารแขวนลอยซึ่งเตรียมจากรอยโรคป้ายหงอนซึ่งมีแผลหรือแผลจากการดึงขนบริเวณน่องของไก่ซึ่งไวต่อโรค ใช้สารแขวนลอยดังกล่าวฉีดเข้า CAM ของไข่ไก่ฟักอายุ 9-12 วัน จะพบรอยโรค คือ pock ภายใน 5-7 วัน การทำวัคซีนโดยการแทงปีก จะพบรอยโรคที่ผิวหนังภายใน 5-7 วัน

การรักษา
            ไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ การรักษาทำโดยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน และ ให้วิตามินเอ 10,000-25,000 IU ต่อน้ำหนักตัว 300 กรัม ร่วมกับวิตามินซี เพื่อช่วยในการหายของแผล อาจใช้โพวิโดนไอโอดีน แต้มที่รอยโรค ในสัตว์ปีกที่มีรอยโรคที่หนังตาหรือที่เยื่อตาควรให้ยาป้ายตาหรือยาหยอดตาซึ่งมีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ เพื่อลดความระคายเคืองและป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน ในกรณีที่รอยโรคมีขนาดใหญ่มากอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดออก
            วัคซีนเชื้อเป็นที่ใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษไก่และนกพิราบ ทำให้เกิดโรคแบบไม่รุนแรงซึ่งกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน วัคซีนนอกจากจะใช้ในการป้องกันโรคแล้ว ยังสามารถใช้ในการควบคุมโรคในช่วงต้นของการระบาด หลังการผสมวัคซีนควรใช้ให้หมดภายในสองชั่วโมง ในไก่ การให้วัคซีนทำโดยการแทงปีก ครั้งแรกให้เมื่อไก่อายุประมาณ 4 สัปดาห์ และให้ซ้ำประมาณ 1-2 เดือน ก่อนไก่เริ่มไข่ อาจให้วัคซีนซ้ำในปีที่ 2 วัคซีนซึ่งเตรียมจากเซลล์เพาะเลี้ยงซึ่งทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลง อาจให้ได้ตั้งแต่ไก่อายุ 1 วัน พร้อมวัคซีนป้องกันโรคมาเร็กซ์ (Marek’s disease)    หลังจากให้วัคซีนในไก่ 7-10 วัน ควรตรวจว่าฝีที่ปลูกขึ้นหรือไม่ โดยการตรวจหาการบวม หรือสะเก็ดที่ผิวหนังบริเวณที่ปลูกฝี แต่ภูมิคุ้มกันจะสร้างภายหลังให้วัคซีนประมาณ 10-14 วัน การตรวจควรทำอย่างน้อยร้อยละ 10 ของฝูง การที่ฝีไม่ขึ้น อาจเนื่องมาจากไก่มีภูมิคุ้มโรคอยู่ก่อนแล้ว วัคซีนประสิทธิภาพไม่ดี หรือ การให้วัคซีนไม่เหมาะสม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น