วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)


โรคทริคิโนซีส เกิดจากพยาธิตัวกลม Trichinella spiralis ซึ่งพบในสัตว์เลี้ยงหลายชนิด เช่น สุกร, แมว และในสัตว์ที่กินเนื้ออีกหลายชนิด รวมทั้งคนด้วย สุกรเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคในคนสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ในประเทศไทย มีรายงานการระบาดของโรค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ในเขตภาคเหนือ และยังมีรายงานตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
                           การติดต่อ
            1.  ในคน เกิดจากการรับประทานอาหารเนื้อสัตว์ที่ดิบ หรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ ซึ่งเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อสุกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุกรชาวเขาหรือเนื้อสัตว์ป่า ซึ่งเมื่อไม่นานมีรายงานการติดโรคจากการกินเนื้อกวางที่ส่งมาจากประเทศลาวและทำให้มีคนตายจากการติดพยาธิ T. spiralis การระบาดของโรคทริคิโนซีส ส่วนใหญ่เกิดเป็นกลุ่มและพบในจังหวัดทางภาคเหนือเป็นส่วนมาก เนื่องจากวิธีการเลี้ยงสัตว์ของพวกชาวบ้านหรือชาวเขายังใช้วิธีดั้งเดิม คือ เศษอาหารที่เหลือจากคนกิน นำมาเลี้ยงสัตว์ต่อ บางครั้งในเศษอาหารอาจมีซากหนูที่ตกลงไปตาย และสุกรบริโภคเข้าไป
2.  ในสัตว์ พวกสัตว์กินเนื้อเป็นอาหารมีรายงานการติดโรคทริคิโนซิส ประมาณ 60 ชนิด โดยมีพวกสัตว์ฟันแทะ (Rodent) เช่น หนู ชนิดต่าง ๆ เป็นพาหะของโรค สัตว์ที่กินเนื้อสัตว์จะติดโรคได้ตามธรรมชาติ แต่ในคน สุกรและสัตว์อื่น ๆ ติดโรคโดยบังเอิญ สำหรับในประเทศไทย มีรายงานพบพยาธิ T. spiralis ในสุกรเลี้ยง สุกรป่า หมาใน หมี กระรอก หนูป่า สุนัข แมว

อาการของโรค

            1.  ในคน ระยะฟักตัวของโรคกินเวลาประมาณ 5-15 วัน หลังจากได้รับตัวอ่อนระยะติดต่อในเนื้อสัตว์ อาการของโรคอาจพบหลังกินไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง จนถึง 40 วัน อาการที่พบได้แก่ บวมตามหน้า เปลือกตา ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ ตาอักเสบ ลำไส้อักเสบ ปวดศรีษะ หายใจไม่สะดวก ผิวหนังมีผื่นแดง บางครั้งอาจพบอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจและสมอง
            2.  ในสัตว์ อาการในสัตว์คล้ายกับในคน โดยจะพบอาการผอมแห้ง ขนหยาบ ขาไม่มีแรง หนังตาบวม ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ตัวอ่อนของพยาธิจะพบในกล้ามเนื้อหัวใจ เนื้อสมอง น้ำไขสันหลัง กล้ามเนื้อกระบังลม กล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อซี่โครง และกล้ามเนื้อแขน

           

การตรวจวินิจฉัย

1.            จากประวัติอาการ และประวัติการกินอาหาร
2.            การตรวจทางซีรั่มวิทยา ได้แก่ Indirect fluorescent antibody test, complement
Fixation, และ precipitation test

การรักษา

ไม่มียาที่ใช้รักษาโรคทริคิโนซิส โดยเฉพาะสำหรับยาถ่ายพยาธิในกลุ่ม Thiabendazole อาจช่วยลดอาการของโรคได้บ้าง


การควบคุมและป้องกัน

            1.  อาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อสุกร หมูป่า และเนื้อสัตว์ป่าควรทำให้สุก จะช่วยป้องกันการติดโรคได้แน่นอน การระบาดของโรคทริคิโนซิสในประเทศไทย เกิดจากวิธีการเลี้ยงสุกรของพวกชาวเขา ที่มักไม่ทำคอกขัง โดยมักปล่อยให้สัตว์หากินอยู่โดยรอบบ้าน การเลี้ยงด้วยอาหารเหลือที่อาจปนเปื้อนซากหนู หรือสุกรที่ปล่อยอาจไปกินซากหนูหรือสัตว์ที่ตายและมีพยาธิอยู่ภายใน สุกรชาวเขามักเป็นที่นิยมบริโภคของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากสุกรที่เลี้ยงแบบปล่อย มักจะมีไขมันน้อยกว่า เนื่องจากสุกรจะเดินหรือออกกำลังมากกว่าสุกรที่เลี้ยงอยู่ตามคอกทั่ว ๆ ไป นอกจากนี้การย้ายถิ่นฐานของชาวเขาที่มีการอพยพและนำสัตว์เลี้ยงเข้ามา ทำให้เป็นการนำโรคเข้าประเทศ โดยไม่มีการตรวจหรือกักโรคเอาไว้ก่อน ทำให้มีการแพร่กระจายของโรคไปยังพื้นที่ที่ยังไม่มีโรค นอกจากนี้ในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่การฆ่าสัตว์จะเป็นการฆ่านอกโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งจะไม่มีการตรวจซากโดยสัตวแพทย์ โอกาสที่พยาธิที่อยู่ในซากจะถูกกินโดยสัตว์พวกหนู สุนัข และแมวที่มาคอยกินเศษเนื้อที่หลงเหลืออยู่ หรือตกหล่นอยู่และติดโรค โรคติดต่อไปสู่มนุษย์ในที่สุด ดังนั้นการควบคุมป้องกันที่จะให้ได้ผลดีสำหรับประเทศไทย จะต้องเข้มงวดในการตรวจซากสุกรในโรงฆ่าสัตว์ และเข้มงวดในการฆ่าหรือชำแหละสัตว์อย่างไม่ถูกกฎหมายที่ไม่มีใบอนุญาตและไม่มี  สัตวแพทย์ควบคุม
            2.  การให้ความรู้แก่เกษตรกร ในการเลี้ยงและดูแลสุกรให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยการทำคอกและใช้อาหารสำเร็จเลี้ยงสุกรโดยตรง ไม่ใช้เศษอาหารที่เหลือจากตามบ้าน
            3.  ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเรื่องโรคทริคิโนซิส ในการเลือกบริโภคอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ที่ปรุงหรือทำให้สุกก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะเนื้อสุกร
            4.  บังคับใช้กฎหมายที่ควบคุมโรงฆ่าสัตว์ให้ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด โดยมีสัตวแพทย์ควบคุมดูแล และรับรองผลการตรวจทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น