วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรค Cryptosporidiosis


โปรโตซัวCryptosporidium ที่พบในสัตว์เลือดอุ่น (Homothermous animals) มี 4 ชนิดได้แก่ C. parvum พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดรวมทั้งในคน C. muris พบในหนู (mice) และ ปศุสัตว์ (cattle) C. baileyi พบในไก่และ C. meleagridis พบในไก่งวง
การแยกชนิดของโปรโตซัว Cryptosporidium spp.อาศัยลักษณะสำคัญ คือ ระยะ oocysts มีขนาดเล็กมาก (1.5-5 ไมครอน) เมื่อผ่านออกมาภายนอก จะมีลักษณะ sporulated และเจริญเป็น sporozoite 4 sporozoites โดยที่ไม่มี sporocyst โปรโตซัวชนิดนี้ย้อมติดสี acid-fast ได้ดีพอที่จะใช้ในการแยกออกจากโปรโตซัวชนิดอื่น ๆ

การติดต่อ
1.            ในคน ติดต่อจากการได้รับ oocyst ที่ปนเปื้อนมากับอาหาร หรือน้ำ โดย oocysts
อาจออกมากับมูลสัตว์ เช่น โค กระบือ และปนเปื้อนอยู่ในสภาพแวดล้อม โรค Cryptosporidiosis มีการระบาดในแหล่งน้ำประปาที่ปนเปื้อนมูลสัตว์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ในประเทศสหรัฐอเมริกา
2.            ในสัตว์  ติดต่อจากการกิน เช่นเดียวกันกับในคน

อาการ
พยาธิโปรโตซัว Cryptosporidium spp. มีการรายงานค้นพบตั้งแต่ปี ค.. 1912 แต่การทำให้เกิดพยาธิสภาพในสัตว์เลี้ยงเริ่มรายงานในปี 1971 และในคนในปี 1976 C. parvum เป็นปรสิตที่ติดต่อในคนได้ และมีความจำเพาะต่อโฮสต์น้อยกว่าโปรโตซัวชนิดอื่น ๆ การแพร่กระจายของโรค มักจะพบมีรายงานในนักเรียนสัตวแพทย์ที่ต้องทำงานและสัมผัสลูกโคที่มีเชื้ออยู่ ปรสิตชนิดนี้อาจพบทำให้เกิดโรคได้ใน คน, สัตว์เคี้ยวเอื้อง, สุกร, ม้า สัตว์กินเนื้อ (carnivores) และสัตว์ฟันแทะ (rodent) โรคนี้ค่อนข้างพบมากเพียงใน คน และลูกโคเท่านั้น โดยจะพบติดเชื้อได้บ่อยในพวกที่มีอายุน้อย สัตว์หรือคนที่ติดโปรโตซัวชนิดนี้สามารถควบคุมโรคได้ด้วยภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตอบสนองอย่างทันที
            ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย สามารถตรวจพบ oocysts ของ C. parvum ได้ถึง 4 %  แต่จากการสำรวจในผู้ป่วยที่มีเชื้อแต่ไม่มีอาการ จำนวน 169 ราย มีเพียง 13 % ที่ตรวจพบ oocysts การติดเชื้อแบบที่ไม่แสดงอาการมักจะพบเป็นประจำในคน ผู้ที่ติดเชื้อและแสดงอาการ จะพบอาการท้องเสียเป็นน้ำอย่างรุนแรง (a severe watery diarrhea) พร้อมกับอาการปวดท้อง (intestinal cramps) และน้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว ในผู้ป่วยในรายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการท้องเสียและน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วอาจจะทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายได้

               

            ในลูกโค เป็นโฮสต์ที่ไวต่อการติดโรคมากที่สุดในบรรดาสัตว์เลี้ยง ในทวีปอเมริกาเหนือ การศึกษาลูกวัวที่มีอาการท้องเสีย พบว่ามี oocysts ของ C. parvum ออกมากับอุจจาระ ประมาณ 25 % การติดเชื้อมักจะเกิดในช่วง 3 สัปดาห์แรกของอายุสัตว์และเมื่อสัตว์แสดงอาการ โรคจะคงอยู่ประมาณ 5-35 วันของอายุสัตว์ อาการของโรค Cryptosporidiosis จะคล้ายกับโรค Coccidiosis ที่เกิดจากโปรโตซัว Eimeria spp. โดยจะเกิดอาการท้องเสียร่วมกับอาการปวดท้อง (tenesmus) ไม่กินอาหาร และน้ำหนักลด
            C. muris ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ abomasum โดยที่ไม่มีอาการชัดเจน
            ในสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ นอกเหนือไปจากลูกโค เช่น สุกร, ม้า,สัตว์กินเนื้อ อาการแสดงอาการของโรค Cryptosporidiosis จะมีอาการเฉพาะของอาการท้องเสียที่จะพบเกิดเป็นระยะ ๆ โดยพบมีรายงานในสัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือในสัตว์ที่มีอายุน้อยมาก
            Cryptosporidium spp.ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จะไม่สามารถติดในพวกสัตว์ปีก และในทำนองเดียวกัน เชื้อในสัตว์ปีกก็จะไม่สามารถติดคนได้ C. baileyis ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และ C. meleagridis ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร เชื้อเหล่านี้ไม่จำเพาะต่อโฮสต์ชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยสามารถติดได้ทั้งในไก่, ไก่งวง, นก และสัตว์ปีกชนิดอื่น ๆ (gallinaceous or psittacid birds) การเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ มีรายงานความรุนแรงของโรคอาจทำให้สัตว์ตายได้ ในพวกลูกไก่งวง หรือนกกระทา
            กลไกการเกิดพยาธิสภาพของเชื้อโปรโตซัว Cryptosporidium spp. ยังไม่มีรายละเอียดมากนัก เนื่องจากตัวโรคเองมักเกิดแบบไม่มีอาการ ทำให้การเกิดพยาธิสภาพต่อเนื้อเยื่อต่าง ๆ มีอยู่จำนวนน้อย แต่ผลของปรสิตที่มีต่อโฮสต์ที่พบได้คือ การรบกวน หรือขัดขวางการดูดซึม หรือการหลั่งสารของ microvilli

การตรวจวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยโรค Cryptosporidiosis ทำได้จาก การสังเกตอาการ และยืนยันจากการ
ตรวจหา Oocysts ในอุจจาระ เหมือนกับการตรวจวินิจฉัยโรคบิด การพบ oocysts ยังไม่สามารถยืนยันโรคนี้ได้ 100 % เนื่องมาจากขนาดของ oocysts ที่เล็กมาก ทำให้ตรวจหาได้ยากในการตรวจทั่ว ๆ ไป ของการตรวจอุจจาระ
การตรวจอุจจาระโดยใช้เทคนิค IFA ที่มีแอนติบอดีย์จำเพาะต่อ Cryptosporidium spp.และ conjugate ด้วยสารเรืองแสง จะช่วยยืนยันตำแหน่งของ oocysts ในอุจจาระได้ แต่เทคนิคดังกล่าว จำต้องอาศัย fluorescence microscope การตรวจทาง section ของเนื้อเยื่อ สามารถช่วยยืนยันเชื้อชนิดนี้ได้เช่นกัน จากการศึกษาใน cattle พบว่าถ้าตรวจด้วย fecal smear จะพบเชื้อ 62 % และ 92 % ถ้าใช้เทคนิค fecal floatation โดยใช้สารละลายน้ำตาลและ 90 % ถ้าตรวจด้วยทาง Serological tests

การรักษา
มีการใช้ยารักษาโรค Cryptosporidiosis หลายชนิด Spiramycin ให้ผลในการรักษาในคน
โดยใช้ขนาด 50-100 มก/กก ติดต่อกันเป็นเวลา 6 วัน และยังมีผลต่อการรักษา canine Isosporosis  Paromomycin ช่วยลดอาการในรายผู้ป่วยที่มีเชื้อ AIDS และแนะนำให้ใช้ในสุนัขได้ด้วยขนาด 125-165 มก/กก วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน การรักษาแบบ supportive มีความจำเป็นในรายที่แสดงอาการของโรคอย่างรุนแรง

ระบาดวิทยา
Cryptosporidium สามารถติดต่อระหว่างคนหรือสัตว์จากการปนเปื้อนของอุจจาระภาย
ในกลุ่มดังกล่าว หรือ ระหว่างชนิดของสัตว์ การได้รับ oocysts จำนวน 30 oocysts ทำให้โฮสต์มีโอกาสต่อโรคประมาณ 20 % แต่ถ้าได้รับตั้งแต่ 1,000 oocysts ขึ้นไปโอกาสติดโรค 100 %
            จากการศึกษาใน cattle , ม้า และสุนัข พบว่าการติด Cryptosporidium มักจะพบในสัตว์อายุน้อยมาก ๆ เช่น พวกลูกสัตว์ที่กำลังกินนม (nursing animals) การติดเชื้อจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันออกมาควบคุมโรคภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่การผลิต oocysts จะยังคงอยู่ประมาณ 3-5 สัปดาห์ ความต้านทานต่อเชื้อ Cryptosporidium จะเกิดขึ้นสูงมากในม้าและสุนัข ซึ่งจะมีผลในการกำจัดเชื้อส่วนใหญ่ในสัตว์ดังกล่าว แต่ไม่พบในคนหรือ cattle ซึ่งสามารถนำโรคได้แม้จะไม่แสดงอาการของโรคก็ตาม ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจาก ม้าและสุนัขได้รับเชื้อจากลูกสัตว์ตัวอื่น ๆ ที่ติดเชื้อ ในขณะที่ลูกโคติดเชื้อโดยตรงจากแม่ และสัตว์ที่โตเต็มวัยอื่น ๆ ที่อยู่ในฝูง
            การติดเชื้อในคนจะเกิดจากการติดระหว่างคนมากกว่าที่จะติดจากสัตว์ การติดเชื้อในคนจะเกิดจากการปนเปื้อนจากน้ำ, อาหาร หรือ มือที่ไม่ได้ล้างก่อนหยิบอาหาร คนที่เลี่ยงต่อการติดโรค Cryptosporidiosis ได้แก่ สัตวแพทย์, นักเรียนสัตวแพทย์, เกษตรกรเลี้ยงโคนม และคนรีดนมวัว
            โรค Cryptosporidiosis พบได้บ่อยมากใน cattle โดยเฉพาะในลูกโคที่อายุน้อยกว่า 1 เดือน อาจพบสูงถึง 80 % ในโคที่โตเต็มที่ อาจพบได้ถึง 62 % ในบางพื้นที่ โดยโคอาจจะดูสุขภาพแข็งแรง แต่ว่ามี oocysts ออกมากับอุจจาระ แต่ถ้าตรวจทางซีรั่มอาจพบสูงถึง 90 %
            การติดเชื้อในลูกม้าที่กำลังกินนมแม่ อาจพบระหว่าง 15-31 % ส่วนในม้าโตจะพบต่ำกว่า 1 %
            อัตราการติดโรค Cryptosporidiosis ในคนประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณ 1.6 % และในประเทศอุตสาหกรรมประมาณ 2 % และอาจพบถึง 10 % ในประเทศที่กำลังพัฒนา การตรวจทางซีรั่มเพื่อหาระดับของแอนติบอดีย์ซึ่งแสดงถึงการติดเชื้อในอดีตหรือปัจจุบัน การติดเชื้อ Cryptosporidium จะมีความสัมพันธ์กับความสะอาดของสภาพแวดล้อม (ระบบน้ำดื่ม และน้ำเสีย) โรงกรองน้ำเพื่อทำน้ำประปาที่มีการรองด้วยทรายสามารถกำจัด oocysts ได้ 91-99.8 % แต่ถ้าไม่มีการกรองด้วยชั้นทรายจะกำจัด oocysts ได้เพียง 74-79 % ในปี 1993 ในรัฐวิสคอนซิน (Wisconsin) เกิดการระบาดของโรคนี้ ทำให้มีผู้ป่วยถึง 403,000 คน และทำให้คนตายถึง 7 ราย
            Oocysts ของ Cryptosporidium จะมีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมอย่างมาก ฟอร์มาลิน (formalin) ที่ความเข้มข้น 10 % สามารถฆ่าเชื้อได้ใน 30 นาที แอมโมเนียที่ความเข้มข้น 50 % ผงซักฟอก (bleach) ความเข้มข้น 70-100 % หรือที่อุณหภูมิ 65 0C หรือ –20 0C ในน้ำ ozone ขนาด 1 ส่วนต่อน้ำ 1 ล้านส่วน (ppm) สามารถฆ่าเชื้อใน 6-10 นาที หรือ คลอรีน (chlorine) 80 ppm จะใช้เวลา 120 นาที เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายเดือนภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม

การควบคุมและป้องกัน

1.ในคน ควรหลีกเลี่ยงจากการปนเปื้อนของอุจจาระในน้ำ, อาหาร หรือ มือจากคนอื่น ๆ หรือจากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคนี้ ที่จำเป็นต้องสัมผัสกับสัตว์ที่อาจจะเป็นพาหะของโรค เช่น โค กระบือ หรือสัมผัสสิ่งปนเปื้อนที่มาจากสัตว์ ควรหมั่นรักษาความสะอาดของร่างกาย หรือใส่อุปกรณ์ป้องกันเช่น ถุงมือ รองเท้าบู๊ท เสื้อคลุม เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อโดยไม่ตั้งใจ 
2. ไม่ควรนำสัตว์ไปใช้แหล่งน้ำร่วมกับคน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนแหล่งน้ำและอาจทำให้
โรคแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง
            3.  ควรตรวจสุขภาพสัตว์เป็นประจำ โดยเฉพาะอุจจาระเพื่อหาทางกำจัดสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคในฝูงที่อาจติดมายังคนได้
4. ในการปนเปื้อนของโรงเรือนสัตว์ปีก การควบคุมความสะอาดอย่างเข้มงวด และการแยกสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคออกจากสัตว์ที่ไวต่อการติดโรค รวมทั้งคนดูแลและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในโรงเรือน ในกรณีที่การระบาดของโรคนำไปสู่อัตราการตายจำนวนมาก การทำลายสัตว์ที่อาจนำโรค และการฆ่าเชื้อของโรงเรือนทั้งหมด รวมทั้งบริเวณใกล้เคียงด้วยไอน้ำ หรือยาฆ่าเชื้อที่ได้กล่าวข้างต้น จะมีประสิทธิภาพในการหยุดการเพิ่มจำนวนของเชื้อสะสมในสภาพแวดล้อม
           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น