วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรคเริม Herpes simplex


โรคเริม Herpes simplex

เริม  เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากเชื้อไวรัส  พุขึ้นเป็นตุ่มใสเล็ก ๆ พบได้ในคน
ทุกวัย  และมักเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง

สาเหตุ  เกิดจากเชื้อไวรัสเริม  หรือเฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์  (Herpes simplex virus type 1 = HSVI)  ซึ่งมีอยู่ 2  ชนิดได้แก่ชนิด 1 หรือ HSV – 1 (ก่อให้เกิดเริมตามผิวหนังทั่วไปและในช่องปากเป็นส่วนใหญ่)  กับชนิด  2  หรือ HSV 2 (ก่อให้เกิดเริมที่อวัยวะเพศเป็นส่วนใหญ่)  ติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรง  ระยะฟักตัวประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ สำหรับโรคเริมที่อวัยวะเพศ  ถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง  และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการเป็นแผลที่อวัยวะเพศ

อาการ  มักจะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ นำมาก่อนเล็กน้อย  แล้วมีตุ่มน้ำใสขนาด 2 – 3 มิลลิเมตร  ขึ้นอยู่กันเป็นกลุ่มโดยรอบจะเป็นผื่นแดง  ต่อมาตุ่มน้ำใสนี้จะกลายเป็นสีเหลืองขุ่น  แล้วแตกกลายเป็นสะเก็ด  หายไปเองภายใน 1 – 2 สัปดาห์ (เร็วสุด  3  วัน) ด้วยลักษณะของตุ่มใสที่อยู่กันเป็นกลุ่มแบบนี้ชาวบ้านบางแห่ง  จึงเรียกโรคนี้ว่า  ขยุ้มตีนหมาตำแหน่งที่พบบ่อย  ได้แก่  ริมฝีปาก  แก้ม  จมูก  หู  ตา  ก้น อวัยวะเพศนอกจากนี้  ต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงมักจะโตและเจ็บด้วย  เมื่อหายแล้ว  เชื้อจะหลบไปที่ปมประสาท  แล้วอาจโผล่ขึ้นมาใหม่  ทำให้โรคกำเริบได้บ่อย ๆ ประมาณปีละ 1 – 4 ครั้ง มักเกิดหลังมีไข้  ถูกแดดจัด  อาหารไม่ย่อยร่างกายอิดโรย  อารมณ์เครียด  ระหว่างมีประจำเดือนหรือตั้งครรภ์

                           

เริมที่อวัยวะเพศ  (Herpes genitalis) ติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เป็นโรคนี้อยู่ก่อน  หลังจากนั้น 4 – 7  วัน  จะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ ต่อมาจะขึ้นเป็นตุ่มใส ๆ เล็ก ๆ หลายตุ่มที่อวัยวะเพศ  ในผู้ชายอาจขึ้นที่หนังหุ้มปลายองคชาต  ที่ตัวหรือปลายองคชาต  ส่วนผู้หญิงอาจขึ้นที่ปากช่องคลอด  ในช่องคลอด  หรือปากมดลูก  ต่อมาตุ่มใสเหล่านี้จะแตกกลายเป็นแผลเล็ก ๆ หลายแผลคล้าย ๆ แผลถลอกและมีอาการเจ็บ  แล้วแผลจะค่อย ๆ หายไปเองภายใน 1 – 2 สัปดาห์  โดยไม่เป็นแผลเป็นต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ (ไข่ดัน) จะโตและเจ็บด้วยเมื่อเคยเป็นครั้งหนึ่งแล้ว  เชื้อจะหลบไปที่ปมประสาทเมื่อร่างกายทรุดโทรมหรือมีการเสียดสี (การร่วมเพศ)  เชื้อก็จะโผล่ขึ้นมาทำให้เกิดโรคได้อีกโดยไม่ได้ติดเชื้อมาใหม่  ดังนั้นคนที่เคยเป็นโรคนี้ก็อาจจะมีอาการกำเริบซ้ำ ๆ ซาก (ประมาณปีละ 3 - 4  ครั้ง ) เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันดีก็จะหายขาดไปได้เอง


เริมที่ริมฝีปาก  (herprs labialis หรือ fever blister)  มักขึ้นบริเวณผิวหนังใกล้ ๆ ริมฝีปาก  เวลามีประจำเดือน  ถูกแดด  หรือเครียด  อาจพบร่วมกับไข้หวัด  ปอดบวม  มาลาเรีย  การติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส  (เช่นทอนซิลอักเสบ)  เชื้อเมนิงโกค็อกคัส  (โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ  ดูโรคที่  66)  และเชื้อริกเกตเซีย  (เช่น  ไข้ไทฟัส  ดูโรคที่  226)
                      

เริมในช่องปาก  มักพบในเด็กอายุ 1 – 5 ปี  ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อครั้งแรก  มีอาการพุเป็นตุ่มน้ำเจ็บปวดแล้วแตกเป็นแผลตื้น ๆ มีฝ้าขาว  หรือเลือดแห้งกรัง  มักขึ้นตรงบริเวณกระฟุ้งแก้ม  เหงือก  เพดานปาก  ลิ้น  บางครั้งอาจมีอาการรุนแรงจนกินอาหารไม่ได้

สิ่งตรวจพบ  ตรวจพบตุ่มน้ำใสขนาด  2  -  3 มิลลิเมตร  อยู่กันเป็นกลุ่มหรือพบตุ่มตกสะเก็ดหรือแผลเล็ก ๆ คล้ายรอยถลอก  และอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงโต
อาการแทรกซ้อน  ส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง  แล้วอาจกำเริบเป็นครั้งคราว  ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อน  เช่น  ตุ่มกลายเป็นหนองพุพองจากการอับเสบซ้ำของเชื้อแบคทีเรีย  อาจทำให้เป็นสมองอักเสบ  ซึ่งพบได้น้อยมาก 
ถ้าเกิดที่ตา  อาจทำให้กระจกตาอักเสบ  (keratitis)  ถึงกับทำให้สายตาพิการได้ 
ถ้าเกิดในผู้หญิงระหว่างตั้งครรภ์  เชื้ออาจผ่านไปยังทารก  ทำให้ทารกพิการตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้ 
ถ้าเกิดในช่องคลอดของหญิงครรภ์แก่  ทารกที่คลอดออกมาอาจได้รับเชื้อ  กลายเป็นโรคเริมชนิดรุนแรงอาจถึงตายได้  จึงควรแนะนำให้ผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อทางช่องคลอด  ถ้าเกิดที่ปากมดลูก  อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้
การรักษา              
                1.ให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้าปวดหรือมีไข้ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ถ้ารู้สึกแสบ ๆ คัน ๆ ให้ทาด้วยยาแกผดผื่นคัน ขณะพุเป็นตุ่มน้ำใสในระยะเริมแรก  อาจใช้เข็มที่ปลอดเชื้อ  สะกิดให้แตก  แล้วใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ  เช่น  โพวิโดนไอโอดีน(เบตาดีน)  แอลกอฮอล์  หรือทิงเจอร์ที่ใส่แผลสด  (Merthiolate)  เช็ดแผลวันละ 2 - 3  ครั้ง  จะช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น  ถ้าพบขณะตุ่มแตกเป็นแผลแล้ว  ก็ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดวันละ  2  -  3  ครั้ง 
ห้ามใช้ครีมสเตอรอยด์  ทาอาจทำให้แผลลุกลามหายยากหรือติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเป็นหนองเฟะ(ซึ่งพบได้น้อยมาก) ให้ยาปฏิบัติชีวนะ  เช่น คล็อกซาซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน  นาน 5 – 7 วัน
2.เด็กที่เป็นเริมในช่องปากให้ดื่มน้ำบ่อย ๆ บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ แล้วใช้กลีเวอรีนโบแรกซ์  หรือเจนเชียนไวโอเลต ป้ายภายในช่องปากวันละ 3 – 4 ครั้ง  ถ้ามีไข้ให้พาราเซตามอล และถ้ากินไม่ได้  อาจต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
3.ถ้าเป็นรุนแรงหรือขึ้นในตาดำ  ควรนำส่งโรงพยาบาลภายในเวลา  24  ชั่วโมง  ในปัจจุบันมียาต้านไวรัส  ได้แก่ อะไซโคลเวียร์  (acyclovir)  ซึ่งมีชื่อทางการค้า เช่น โซวิแรกซ์ (Zovirax) ไวโรแรกซ์ (Virorax)               ยานี้จะใช้ในกรณีที่มีอาการสมองอักเสบจากเชื้อเริม ทารกแรกเกิดที่ติดเชื้อเริมระหว่างคลอด กระจกตาอักเสบจากเชื้อเริม
สำหรับกระจกตาอักเสบจากเชื้อเริม ควรปรึกษาจักษุแพทย์  ซึ่งจะให้การรักษาโดยให้ยาต้านไวรัสชนิดหยอดตาหรือป้ายตา เช่น ยาหยอดตาไตรฟลูริดีน (Trifluridine) ชนิด 1 % หยอดวันละ 9 ครั้ง (ประมาณทุก 2 ชั่วโมง) ครั้งละ 1 หยด หรือขี้ผึ้งป้ายตาไวดาราบีน (Vidarabine) ชนิด 3 % ป้ายวันละ 5 ครั้ง หรือขี้ผึ้งป้ายตาอะไซโคลเวียร์ ชนิด 3 % ป้ายวันละ 5 ครั้ง นาน 1 – 2 สัปดาห์ในรายที่เป็นรุนแรง อาจต้องให้อะไซโคลเวียร์ กินครั้งละ 200 – 400 มิลลิกรัม วันละ 5 ครั้งนาน 10 วัน
สำหรับเริมที่อวัยวะเพศ ที่เพิ่งเป็นครั้งแรกและมีอาการไม่เกิน 5 วัน ให้กินยาเม็ดอะไซโคลเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม  ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 5 ครั้งห่างกันทุก 4 ชั่วโมง (เว้นช่วงนอนหลับตอนกลางคืน) หรือครั้งละ 400 มิลลิกรัมทุก 8 ชั่วโมง นาน 5 – 10 วัน ทั้งนี้เพื่อย่นระยะให้หายเร็วขึ้น และลดการแพร่โรค แต่ไม่มีผลในการป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ส่วนการใช้ครีมอะไซโคลเวียร์ ชนิด 5 % ทาแผลเริมทุก 4 ชั่วโมง นาน 5 – 10 วัน อาจทำให้ผื่นหายเร็วขึ้น แต่ได้ผลสู้ชนิดกินไม่ได้

ข้อแนะนำ
1.พยายามให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่า โรคนี้ถึงแม้จะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง แต่โดยทั่วไปก็ไม่ทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด ไม่ควรเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลบ่อย ยกเว้นในผู้หญิง ถ้าเป็นที่ปากมดลูกควรตรวจหาเชื้อมะเร็งปากมดลูกปีละครั้งถ้าเป็นระหว่างตั้งครรภ์หรือใกล้คลอด  ควรแนะนำไปพบแพทย์ อาจต้องผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง
2.ถ้าเป็นเริมที่อวัยวะเพศ ควรงดร่วมเพศจนกว่าแผลเริมจะหาย หรือไม่ก็ควรป้องกันการแพร่เชื้อโดยการใช้ถุงยางอนามัย
3.ถึงแม้ยังไม่มีวิธีรักษาโรคเริมให้หายขาด ไม่ให้เป็นซ้ำ แต่คณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้แนะนำให้ผู้ที่เป็นเริมที่อวัยวะเพศกำเริบตั้งแต่ปีละ 6 ครั้งขึ้นไป  กินอะไซโคลเวียร์ (200 มิลลิกรัม) ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น นาน 1 ปี จะช่วยระงับอาการกำเริบให้ห่างขึ้นได้ การใช้ยาขนาดนี้พบว่ามีความปลอดภัยสูง
4.ผู้ที่เป็นโรคเริมกำเริบถี่มาก หรือเป็นรุนแรงหรือเป็นแผลเริมเรื้อรังเกิน 1 เดือน ควรตรวจเลือดหาเชื้อ เอชไอวี เพราะอาจพบว่าเป็นเอดส์ได้
5.ครีมพญายอ ขององค์การเภสัชกรรม ซึ่งทำจากสมุนไพร ได้ผ่านการศึกษาวิจัยแล้วพบว่า สามารถรักษาเริมที่อวัยวะเพศที่เป็นครั้งแรกได้ผลพอ ๆ กับครีมอะไซโคลเวียร์ ( ซึ่งประสิทธิผลสู้อะไซโคลเวียร์ ชนิดกินไม่ได้) และไม่สามารถป้องกันการกำเริบซ้ำ  ส่วนเริมที่กำเริบซ้ำ จะใช้ยาทาเหล่านี้ไม่ได้ผล
ผู้ที่เป็นแผลเริมเรื้อรังเกิน 1 เดือน อาจเป็นโรคเอดส์ได้
ที่มา      ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป    และหนังสือใกล้หมอปีที่ 23 ฉบับที่ 11  พฤศจิกายน  2542
http://rxama.com/forum/message.php? Action NewReplyMessage&BoardID=l&TopicID=369*
ที่มา  หนังสือ นิตยสารใกล้หมอปีที่ 23 ฉบับที่ 11 พฤศจิกายน 2542



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น