วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โรคหัวใจขาดเลือด


 

โรคหัวใจขาดเลือด

 

โรคหัวใจขาดเลือด

เกิดจากเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดอาการตีบ ทำให้เลือด ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ กล้ามเนื้อหัวใจ ขาดออกซิเจนชั่วขณะ เกิดอาการเจ็บหน้าอก อาการจะทุเลาเมื่อพัก และถ้าเส้นเลือดที่ตีบ เกิดอุดตันอย่างเฉียบพลัน จะทำให้เกิด กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ทำให้เกิด อาการเจ็บหน้าอก อย่างรุนแรง อาจมีอาการ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตแบบปัจจุบันทันด่วน ก่อนที่จะไปถึงโรงพยาบาลได้
อาการเจ็บหน้าอกจากหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากการเสียสมดุล ของการใช้ออกซิเจน ของกล้ามเนื้อหัวใจ ในคนปกติ หรือผู้ที่มี หลอดเลือดหัวใจตีบเล็กน้อย การไหลเวียนของเลือด เพียงพอที่จะส่งออกซิเจน ให้กล้ามเนื้อหัวใจ แม้ว่าจะทำงานอย่างหนักก็ตาม ในผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น จะมีอาการเจ็บหน้าอก เมื่อมีการออกกำลัง เพราะกล้ามเนื้อหัวใจ ต้องการออกซิเจนมากขึ้น แต่ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีจำกัด เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อาการจะดีขึ้นเมื่อพักความต้องการออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง อาการเจ็บหน้าอกมักจะเป็นไม่เกิน 10 นาที เมื่อหลอดเลือดตีบมากขึ้น ระยะเวลาที่ออกกำลังจะน้อยลง อาการเจ็บหน้าอกจะเกิดเร็วขึ้นตามลำดับ และถ้ามีอาการอุดตัน ของหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ กล้ามเนื้อหัวใจที่หลอดเลือดตันไปเลี้ยง จะตาย อาการเจ็บหน้าอก จะเป็นอยู่นาน และต่อเนื่องมากกว่า 15 นาทีขึ้นไป และอาการจะไม่ทุเลา แม้จะไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ เลย

 ใครบ้างที่มีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด
สาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด มักจะเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ได้แก่
1. เพศชาย มีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด มากกว่าเพศหญิง 3-5 เท่า
2. อายุ ในเพศชายมักจะเริ่มตั้งแต่ อายุ 35 ปีขึ้นไป ในเพศหญิงจะเกิดช้ากว่า คือ มักจะเกิดในวัยหมดประจำเดือน อายุประมาณ 50-55 ปี
3. สูบบุหรี่
4. ไขมันในเลือดสูง
5. โรคความดันโลหิตสูง
6. โรคเบาหวาน
7. อ้วนและไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
8. เครียดง่าย เครียดบ่อย
9. มีประวัติโรคหัวใจขาดเลือดของคนในครอบครัว
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ ก็จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ได้เร็วกว่าผู้อื่น และมักจะมีความรุนแรงของโรคมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง

 


การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดประกอบไปด้วย
1.                  การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต โดยการลดปัจจัยเสี่ยง
การลดปัจจัยเสี่ยงเป็นแนวทางที่ สำคัญอย่างยิ่ง ในการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จากเส้นเลือดหัวใจตีบ ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้มีการตีบของเส้นเลือดหัวใจ และยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจลงด้วย การลดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ
1.                  เลิกสูบบุหรี่ เด็ดขาด
2.                  ลดน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน
3.                  ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
4.                  ควบคุมโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับผู้ที่เป็นแล้ว ในผู้ที่ยังไม่เป็นโรคเหล่านี้ ควรมีการตรวจเช็คทุก 6 เดือน เพื่อที่จะได้ควบคุมโดยเร็วที่สุด
2.                  การรักษาด้วยการใช้ยา
ในโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความรุนแรงของโรคมีหลายระดับ ตั้งแต่ไม่มีอาการ ไปจนถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน เป็นต้น เพราะฉะนั้น ยาที่ใช้รักษา จึงขึ้นอยู่กับระยะ และความรุนแรงของโรคได้แก่
1.                  ยาเพื่อป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือด กับผนังของหลอดเลือดแดง ซึ่งมีผลทำให้เกิดการทำลายของผนังหลอดเลือดและทำให้หลอดเลือดตีบ ตันมากขึ้น และอุดตัน
2.                  ยาเพื่อช่วยลดอาการเจ็บหน้าอก ลดการทำงานของหัวใจ ช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น
3.                  ยาเพื่อใช้ละลายลิ่มเลือด ที่อุดกั้นเส้นเลือดหัวใจที่ตีบอย่างเฉียบพลัน เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย จะได้ประโยชน์มาก ถ้าให้ได้เร็วที่สุด หลังจากที่เส้นเลือดหัวใจมีการอุดตันอย่างเฉียบพลัน ถ้าเกิน 6 ชั่วโมงไปแล้วจะได้ประโยชน์น้อย หรืออาจจะไม่ได้ประโยชน์เลย
4.                  ยาอื่นๆ ที่ใช้รักษาภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ยาขับปัสสาวะ ยาที่ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ยาพวกนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นเท่านั้น
3.                  การขยายเส้นเลือดหัวใจโดยบอลลูน
เป็นวิธีการขยายเส้นเลือดหัวใจโดยการให้สายสวนหัวใจผ่านทางเส้นเลือดแดงที่โคนขา เข้าไปจนถึงเส้นเลือดหัวใจที่ตีบ และขยายเส้นเลือดโดยทำให้บอลลูนที่ปลายของสายสวนหัวใจพองขึ้น เพื่อที่จะดันเส้นเลือดที่ตีบให้ขยายออก จะได้มีเลือดไปเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น 
4.                  การรักษาโดยการผ่าตัดต่อเส้นเลือดหัวใจใหม่
โดยการใช้เส้นเลือดแดง หรือเส้นเลือดดำที่ขา มาต่อเส้นเลือดหัวใจ เพื่อเพิ่มทางเดินของเลือด ที่จะมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น

การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ที่เกิดจากเส้นเลือดหัวใจตีบ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่มาพบแพทย์ ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใดก็ตาม โรคนี้เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ต้องการการรักษาต่อเนื่องตลอดไป เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นเลือดตีบมากขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่จะตามมาซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ภาวะหัวใจล้มเหลว และภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น