วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

น้ำมะพร้าวอ่อน ชะลอโรคอัลไซเมอร์


น้ำมะพร้าวอ่อน ชะลอโรคอัลไซเมอร์


อาจารย์ มอ.หาดใหญ่ วิจัยพบฮอร์โมนเอสโตรเจนในน้ำมะพร้าวอ่อนมีสารชะลอโรคอัลไซเมอร์ เผย เตรียมพัฒนาเป็นอาหารเสริม เครื่องสำอาง และยาชะลออัลไซเมอร์ หวังช่วยหญิงวัยทองทั่วโลกที่มีโรคแทรกซ้อนหลังหมดประจำเดือน เร่งจดสิทธิบัตรให้เร็วที่สุดหวั่นซ้ำรอยต่างชาติตัดหน้าจดกวาวเครือ
                    (31ส.ค.)ดร.นิซาอูดะห์ ระเด่นอาหมัด อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์                       คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า หลังจากศึกษาข้อมูลจนพบว่าในแต่ละปีมีผู้หญิงทั่วโลกเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอย่างถาวรประมาณ 50 ล้านคน ขณะเดียวกันพบว่าผู้หญิงกลุ่มนี้ขาดฮอร์โมนจากรังไข่มากระตุ้นมดลูกจนเกิดผลข้างเคียงอันเกิดจากการหมดประจำเดือนคือ โรคหัวใจ กระดูกผุ เนื่องจากสตรีวัยทองมักได้รับฮอร์โมนทดแทนจนพบอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์สูงในสตรีกลุ่มนี้เพราะได้รับฮอร์โมนลดลง
                    “ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์นับล้านคน ส่วนประเทศไทยนั้นพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์กว่าแสนคน และหากคนกลุ่มนี้ได้รับฮอร์โมนทดแทนมากกว่า 5 ปีขึ้นไปจะพบผลข้างเคียงอื่นๆ มากขึ้น ที่พบได้บ่อย ได้แก่ มะเร็งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ จนหลายฝ่ายต้องหาสารหรือพืชทดแทนจากธรรมชาติมาผลิตเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ให้รับประทานจนเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวนักวิจัยรายเดิม กล่าว
                    ดร.นิซาอูดะห์ กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันมีงานวิจัยเกี่ยวกับถั่วเหลือง หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองซึ่งมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง เพื่อนำมาเป็นฮอร์โมนทดแทนและพบว่า สตรีวัยทองชาวอเมริกันที่เริ่มรับประทานอาหารจำพวกถั่วเหลือง หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทองแล้วมีอัตราการเป็นมะเร็งต่างๆ ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งเต้านมสูงกว่าสตรีวัยทองในประเทศจีนหรือญี่ปุ่น ซึ่งคุ้นเคยกับการทานอาหารจำพวกถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
                    ส่วนในประเทศไทยนั้นนักวิจัยได้ทำการศึกษาสารที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนปริมาณมากจนประสบผลสำเร็จแล้วคือผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือขาว ทั้งที่นักวิจัยของไทยได้ค้นคิดมาก่อนเป็นเวลานาน แต่แล้วประเทศญี่ปุ่นกลับได้จดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์จากกวาวเครือขาวไปก่อนอย่างน่าเสียดาย
                    ดร.นิซาอูดะห์ กล่าวอีกว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวตนจึงทำการวิจัยหาสารอื่นๆ นอกจากถั่วเหลืองและกวาวเครือขาวที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนมาทำการศึกษา ได้แก่ น้ำมะพร้าวอ่อนโดยใช้ความรู้ของภูมิปัญญาไทยที่ว่า... หากดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนขณะมีประจำเดือนจะมีผลทำให้ประจำเดือนหยุด หรือกลายเป็นประจำเดือนกะปริดกะปรอยและทำให้มีประจำเดือนครั้งต่อไปล่าช้ากว่าปกติ                                             
                           โดยทำการศึกษาวิจัยเรื่องผลของน้ำมะพร้าวอ่อนต่อการชะลอการเกิดพยาธิสภาพโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี 2546-2548 จนผลงานดังกล่าวได้รับความสนใจสูงในระดับนานาชาติและได้รับคัดเลือกเป็นผลงานแบบโปสเตอร์ดีเด่น สาขาประสาทกายวิภาคศาสตร์ จากงานประชุมวิชาการกายวิภาคศาสตร์แห่งประเทศไทยประจำปี 2549 ครั้งที่ 29
                    “จากการทดลองพบว่าน้ำมะพร้าวอ่อนมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงและมีส่วนช่วยลดพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์ โดยใช้หนูขาวเพศเมียที่ถูกตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างเป็นแบบจำลองแทนสตรี             วัยทองพบว่าหนูขาวเพศเมียที่ถูกตัดรังไข่ออกและได้รับนำมะพร้าวเป็นเวลา 5 สัปดาห์มีพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับน้ำมะพร้าวดร.นิซาอูดะห์ กล่าวและว่า
                    นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำมะพร้าวอ่อนมีผลทำให้การสมานแผลเร็วขึ้น ทั้งยังไม่มีแผลเป็นอีกด้วย ซึ่งจะได้ศึกษาและพัฒนาให้เป็นยาเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่แผลหายช้ากว่าปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จากความสำเร็จในครั้งนี้ ตนจึงได้รับเชิญให้ไปให้คำแนะนำห้องปฎิบัติการเพื่อศึกษาการชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์โดยใช้สมุนไพร Nigella Sativa สมุนไพรพื้นเมืองของแถบเมดิเตอเรเนียน มีชื่อภาษาไทยว่า เทียนดำซึ่งมีฮอร์โมนเอสโตรเจน ณ มหาวิทยาลัยปุตระ ประเทศมาเลเซีย และได้รับข้อเสนอให้ไปทำการวิจัยเรื่องดังกล่าวในห้องปฎิบัติการอันทันสมัยในมาเลเซีย
                    ดร.นิซาอูดะห์ กล่าวด้วยว่า ได้ขอทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาให้น้ำมะพร้าวอ่อนเป็นอาหารเสริม เครื่องสำอาง และยาเพื่อชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์และยาเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นต่อไปในอนาคต และจะทำการจดสิทธิบัตรเพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์สำหรับประเทศไทยต่อไป หากการศึกษาวิจัยประสบความสำเร็จจริง จะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่มะพร้าว และจะทำให้ชาวสวนมะพร้าวมีรายได้ดีขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่เกษตรกรรมไทยโดยเฉพาะผู้ปลูกมะพร้าวซึ่งเป็นพืชทางการเกษตรของภาคใต้ และเชื่อว่าเป็นการลดการนำสินค้า เครื่องสำอาง และยาเข้าจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาล ดร.นิซาอูดะห์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น