วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อาหารและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง


อาหารและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
โรคมะเร็งถึงแม้ว่าในปัจจุบันเราจะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงก็ตาม แต่จากการค้นคว้าวิจัยและสถิติทางการแพทย์ เราพบว่าผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็ง ได้แก่
  • ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีราสีเขียว - เหลืองขึ้น บ่อยๆ เช่น ถั่วลิสงคั่วป่นที่มีราขึ้น จะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ
  • ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ เต้านม ต่อมลูกหมาก และมดลูก
  • ผู้ที่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ที่มีพยาธิใบไม้ตับปนอยู่ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งของถุงน้ำดีในตับ
  • ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารเค็มจัด ส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้ง - ย่าง รมควัน และอาหารที่ถนอมด้วยเกลือดินประสิว จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และลำไส้ใหญ่
  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัด จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด และกล่องเสียง
  • ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ และถ้าทั้งดื่มสุรา และสูบบุหรี่ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปาก และช่องคอด้วย
  • ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด บี จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ และถ้าได้รับสารพิษอัลฟาท้อกซินด้วย โอกาสเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นเป็นโรคทางพันธุกรรม หรือติดเชื้อไวรัส HIV จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม รังไข่ และลำไส้ใหญ่ชนิดมีติ่งเนื้อ และผู้ที่ตากแดดจัดจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง
ถ้าท่านมีข้อสงสัยประการใดเกี่ยวกับอาหารและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง กรุณาไปพบแพทย์เพื่อสอบถามเพิ่มเติมนะคะ
อาหารที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
มะเร็งแม้ว่าจะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่จากการศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้จากประวัติ ของผู้ที่เป็นโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ในวงการแพทย์จึงให้คำแนะนำว่า ท่านไม่ควรบริโภคอาหารที่อาจจะเป็นสาเหตุของการก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ ดังนี้
1.      อาหารที่ขึ้นราง่าย เช่นถั่วลิสงที่เรามาบดใส่ในก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ถ้าเก็บรักษาไม่ดี ไว้ในที่ชื้นๆจะทำให้เกิดเชื้อราที่มีสารพิษ ซึ่งทำให้สามารถเกิดโรคมะเร็งของตับได้
2.      อาหารหมักที่ใช้ดินประสิว การหมักด้วยดินประสิวจะทำให้เนื้อสัตว์มีสีแดงน่ารับประทาน ถ้ารับประทานดินประสิวเข้าไปบ่อยๆ จะไปรวมกับสารอาหารบางอย่างในอาหารอื่นๆ ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งของตับและสมองได้
3.      อาหารที่มียาฆ่าแมลงติดค้างอยู่ เช่นพวกผักผลไม้ต่างๆ ต้องมีการแช่น้ำไว้ 15-20 นาที หรือล้าง 2-3 ครั้ง ยาฆ่าแมลงบางอย่างอาจเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกาย ทำให้เกิดมะเร็งของกระเพาะอาหาร มะเร็งของตับและไตได้
4.      อาหารที่ใส่สี ที่ไม่ได้ทำไว้สำหรับผสมอาหาร อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้
5.      อาหารที่สุกเกินไปจากการทอดหรือย่าง มีลักษณะสีดำเหมือนถ่าน ซึ่งเชื่อกันว่ามีสารก่อมะเร็งอยู่ในส่วนที่ไหม้เกรียมนั้น
ดังนั้น ถ้าท่านหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ท่านจะได้รับสารที่อาจก่อมะเร็งเข้าไปในบริเวณร่างกายน้อยลง
ใยอาหาร : กับมะเร็งลำไส้ใหญ่
ใยอาหารคือส่วนของอาหารที่เรารับประทานเข้าไป และร่างกายจะไม่มีน้ำย่อยที่จะสามารถมาย่อยส่วนที่เป็นใยอาหารนี้ได้ จนกระทั่งถูกขับถ่ายออกมา สำหรับใยอาหารนี้จะไม่มีส่วนประกอบที่เป็นสารอาหารเลยจะ และไม่ให้พลังงานใดๆ ทั้งสิ้น ใยอาหารมีเฉพาะในพืชเท่านั้น เราไม่พบใยอาหารที่มาจากสัตว์เลย
ทำไมใยอาหารจึงลดอัตราการเกิดของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ เราขออธิบายดังนี้ ใยอาหารมีผลทำให้อาหารที่เราทานเข้าไป ผ่านจากกระเพาะอาหารไปยังลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนักได้อย่างรวดเร็วขึ้น ดังนั้นเวลาของการสัมผัสระหว่างสารพิษ หรือสารที่ก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหารที่เรารับประทานเข้าไป กับเยื่อบุลำไส้จะน้อยลงทำให้พบมะเร็งลำไส้ใหญ่น้อยลงไปด้วย ซึ่งถึงแม้จะพิสูจน์ให้ชัดเจน 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ก็ตาม แต่จากสถิติการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่พบว่า พวกที่ไม่ค่อยชอบรับประทานอาหารที่มีใยอาหาร มีสถิติการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่า


ใครมีโอกาสเสี่ยงบ้าง?
ข้อมูลต่อไปนี้นำมาจากการศึกษาวิจัยและสถิติ ทั้งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุขแห่งสหรัฐอเมริกา ที่นำเสนอต่อประชาชนทั่วไปว่า ใครมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งบ้าง? เพื่อที่จะให้ท่านทั้งหลายจะได้พยายามหลีกหนี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ ยังไม่สายเกินไปหรอกค่ะ
ผู้ที่เสี่ยงในการเป็นมะเร็งอับดับที่หนึ่งได้แก่ ผู้ที่สูบบุหรี่ ทั้งนี้จากสถิติพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากเป็น 10 เท่าของคนไม่สูบบุหรี่ ผู้สูบบุหรี่ยังมีโอกาสเป็นมะเร็งในช่องปาก ที่ลำคอ หลอดอาหาร ตับอ่อน และกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ในขณะนี้อาจมีเพิ่มเติม ได้แก่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งปากมดลูกอีกด้วย สำหรับผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ แล้วนั้นไปใช้วิธีการเคี้ยวสารที่มีส่วนผสมคล้ายบุหรี่ ก็ยังทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งในช่องปากมากขึ้น ถ้าท่านเลิกสูบบุหรี่ได้เมื่อใด ก็จะทำให้โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลดลงเมื่อนั้นทันที
ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งของเต้านม มะเร็งของลำไส้ใหญ่ มะเร็งมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น การที่พยายามรับประทานอาหารให้เหมาะสม ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงๆ จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งได้ด้วย
ผู้ที่ถูกแสงแดดจัดๆ ก็ควรที่จะพยายามหลีกเลี่ยง ผู้ที่ดื่มเหล้าหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่นๆ ควรที่จะลดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับมะเร็งในปาก ลำคอ หลอดอาหาร และตับด้วย
สารเคมีและสารต่างๆ ที่ใช้อยู่ในวงการโรงงานอุตสาหกรรม เช่น แอสเบสต้อท มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีการสูบบุหรี่ร่วมด้วย นอกจากนี้พวกสารเคมีในบ้าน เช่น น้ำยาทำความสะอาด สีที่มีส่วนผสมของทินเนอร์ ยาฆ่าแมลง ยาพ่นฆ่ายุง ควรที่จะหลี่กเลี่ยงในการสูดดมหรือ หยิบจับด้วยมือเปล่า เพราะอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้
นอกจากนี้แล้ว ผู้ที่มีประวัติว่าในครอบครัวมีผู้ป่วยโรคมะเร็ง ท่านย่อมมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนอื่นๆ นะคะ เพราะปัจจุบันเชื่อกันว่าโรคมะเร็งมีความเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ด้วย การแวดระวังอาจต้องเพิ่มมากขึ้นกว่าคนปกติทั่วไป จะตรวจพบได้ฉับไว โอกาสหายขาดก็จะได้มีสูงไงล่ะคะ
ทราบว่าเป็นมะเร็งได้อย่างไร?
เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งมีอาการที่บ่งบอกว่าอาจเป็นมะเร็ง แพทย์ผู้รักษาก็จะซักถามประวัติเกี่ยวกับการเจ็บป่วย และตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมทั้งการวัดอุณหภูมิ จับชีพจร และวัดความดันโลหิต
สิ่งที่แพทย์ส่วนใหญ่จะต้องส่งตรวจเพิ่มเติมคือการเอ็กซเรย์ด้วยวิธีธรรมดา หรือบางกรณีอาจต้องทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ธรรมดาหรือเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์สนามแม่เหล็ก เพื่อดูรายละเอียดที่มากขึ้น บางครั้งอาจต้องทำการตรวจโดยการฉีดสีเข้าเส้นเลือด เพื่อดูความผิดปกติของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณที่เป็นมะเร็ง ในบางกรณีอาจต้องทำการตรวจโดยใช้สารกัมมันตรังสีเข้ามาช่วยเหลือ หรือการใช้อัลตราซาวน์คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งภาพที่ได้อาจจะช่วยสนับสนุนรายละเอียดมากขึ้นกว่าภาพเอกซเรย์วิธีธรรมดา
การตรวจเลือดและปัสสาวะก็มีความสำคัญ แต่ที่สำคัญที่สุดในการวิเคราะห์โรคมะเร็งคือ การเอาชิ้นเนื้อจากก้อนที่เราสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง ไปตรวจวิเคราะห์โดยการใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูเซลล์ที่ผิดปกติว่าจะเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเป็นมะเร็ง เพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยรายนั้นเป็นโรคมะเร็งจริงหรือไม่
นอกจากแพทย์ผู้รักษาจะต้องการทราบว่าเป็นมะเร็งชนิดใดแล้ว แพทย์จะต้องการทราบต่อไปว่า โรคมะเร็งในผู้ป่วยนั้นๆ อยู่ในขั้นใด มีการแพร่กระจายไปตำแหน่งอื่นๆ แล้วหรือยัง เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ แพทย์ผู้รักษาจะต้องประมวลข้อมูลเข้ามาด้วยกัน เพื่อวางแผนในการรักษาให้ได้ผลดีที่สุดในคนไข้รายนั้นๆ ต่อไป
ดังนั้นการวิเคราะห์โรคมะเร็งจึงต้องอาศัยจากประวัติความเจ็บป่วย การตรวจร่างกาย ผลการตรวจเลือดและปัสสาวะจากห้องปฏิบัติการการเอกซเรย์ ตลอดจนอาจมีการตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติมแล้วแต่กรณีและที่สำคัญที่สุดคือการตัดเอาชิ้นเนื้อไปตรวจทางกล้องจุลทรรศน์นั่นเอง
อาการเริ่มต้นที่พึงระวัง!
โรคมะเร็งไม่ใช่เป็นโรคทีที่ทำให้เกิดอาการปัจจุบันทันด่วนนะคะ กว่าที่โรคมะเร็งจะทำให้เกิดอาการหรือปัญหาต่างๆ ได้ จะต้องอาศัยเวลาในการลุกลาม จนทำให้ระบบปกติต่างๆ ภายในร่างกาย เริ่มเปลี่ยนแปลงไป และเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
ท่านสามารถสังเกตสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่อาจเกิดในตัวท่าน เพื่อรีบไปพบแพทย์และรับคำปรึกษา หากอาการที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นมาแล้วมากกว่า 2 สัปดาห์ โปรดอย่ารอจนกระทั่งท่านมีอาการปวดนะคะ เพราะอาการปวดไม่ใช่อาการเริ่มแรกของมะเร็ง การตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โอกาสหายมีได้สูงมากนะคะ
อาการที่ท่านพึงสังเกตมีต่อไปนี้คือ
1.      มีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรือปัสสาวะเป็นเลือด
2.      กลืนอาหารลำบาก หรือมีอาการเสียด แน่นท้องเป็นเวลานาน
3.      มีอาการเสียงแหบแลไอเรื้อรัง
4.      มีเลือดทางช่องคลอดหรือมีตกขาวที่ผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น
5.      แผลซึ่งรักษาแล้วหายยาก
6.      มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝตามร่างกาย
7.      มีก้อนที่เต้านมหรือที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย
8.      หูอื้อหรือมีเลือดกำเดาไหล
อาการเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกว่าท่านเป็นมะเร็ง 100 % แต่เพื่อความแน่นอนโปรดไปพบแพทย์เพื่อตรวจวิเคราะห์ให้ชัดเจนและ จงจำไว้เสมอว่า มะเร็งจะรักษาได้ผลดีที่สุดหรือหายขาดก็ต่อมื่อตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะต้นๆ เท่านั้นนะคะ
การรักษาโรคมะเร็ง
การรักษาโรคมะเร็งมีหลายวิธี ตั้งแต่การผ่าตัด การใช้รังสีบำบัดหรือที่เรียกว่าการฉายแสง การใช้ยาเคมีบำบัด การใช้ฮอร์โมน และการรักษาโดยการปรับปรุงระบบภูมิต้านทานของร่างกายให้ดียิ่งขึ้น โดยทุกๆ วิธีก็เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกายนั่นเอง
แพทย์ผู้รักษาอาจใช้วิธีเดียว หรือหลายๆ วิธีรวมกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ตำแหน่งของมะเร็ง และความกว้างที่มะเร็งลุกลามไป ตลอดจนมะเร็งชนิดนั้นๆ อยู่ในขั้นใด อายุของผู้ป่วย ความแข็งแรงของร่างกายของแต่ละคนก็มีส่วนที่แพทย์จะนำมาพิจารณาประกอบการรักษาด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยรายนั้นๆ ในบางรายแพทย์ผู้รักษาอาจจะส่งต่อผู้ป่วยไปให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคมะเร็งนั้นๆ รักษาต่อ
เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งจำเป็นต้องให้ได้ผลในการฆ่าเซลล์มะเร็งอย่างได้ผลดีมาก มิฉะนั้น เซลล์มะเร็งสามารถลุกลามไปส่วนต่างๆ ได้ต่อไป ดังนั้นผลของการรักษาจึงทำให้เซลล์ปกติอาจถูกทำลายไปบ้าง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักมีอาการข้างเคียงจากการรักษาได้บ่อยๆ แต่แพทย์ผู้รักษาทุกท่านจะพยายามรักษาโดยให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุดอยู่แล้ว และส่วนใหญ่หากผลข้างเคียงเกิดขึ้นก็มักจะหายไปได้เอง หลังจากการรักษาชนิดนั้นๆ สิ้นสุดลง
กล่าวโดยสรุป ขอให้ท่านได้โปรดมั่นใจต่อการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน ว่าจะให้การรักษาแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างดีที่สุดเพราะความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์มีอยู่ตลอดเวลาตลอดจนมีการศึกษาวิจัย ค้นคว้า อย่างต่อเนื่องที่จะเอาชนะโรคมะเร็งให้ได้การหลงเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อว่ารักษามะเร็งได้ผล ท่านคงต้องใช้ดุลยพินิจของท่าน ท่านอาจเสียทั้งเงินทอง และพลาดโอกาสทองในการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากการรักษาอย่างรวดเร็ว จะช่วยทำให้โอกาสมีมากขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น