โรคลิ้นหัวใจยาว
ฟังดูชื่อตลกไหมครับ…ลิ้นหัวใจยาว ที่จริงมีผู้ใช้คำอื่นๆ เช่น ลิ้นหัวใจโป่ง ลิ้นหัวใจแลบ ซึ่งก็ฟังตลกๆทั้งนั้น ยังไม่มีคำศัพท์ภาษาไทย ที่เหมาะสม คำนี้มาจากภาษาอังกฤษว่า Prolapse ขึ้นกับว่าเกิดกับลิ้นไหน ลิ้นหัวใจที่พบว่า prolapse บ่อย และ เป็นปัญหามาก ที่สุด คือ ลิ้นไมตรัล จึงเรียกว่า Mitral Valve Prolapse หรือ Prolapsed Mitral Valve ใช้คำย่อว่า MVP
ลักษณะของลิ้นหัวใจ
อาจเกิดความเสื่อมสภาพ หรือ มีการสะสมของสารบางชนิดที่ลิ้นหัวใจมากขึ้น (myxomatous degeneration) เป็นผลให้ลิ้นหัวใจ นั้นยาวขึ้น และ มีความยืดหยุ่นมากผิดปกติด้วย (floppy) เวลาลิ้นหัวใจปิด ซึ่งปกติแล้วส่วนปลายลิ้นหัวใจจะชนกันพอดี ทำให้ปิดสนิท ไม่มีเลือดรั่ว แต่ในลิ้นหัวใจที่ยืดยาวและสะบัดมาก ทำให้เกิดการเกยกันของลิ้นหัวใจขณะที่ลิ้นปิด บางส่วนของ ลิ้นหัวใจอาจยื่นเลยเข้าไปในหัวใจห้องบนได้ (เป็นที่มาของคำว่า prolapse) ทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจแบบนี้ค่อนข้างอ่อนแอ เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และหากยังคงมีการเสื่อมสภาพ (degeneration) มากขึ้น ก็จะทำให้ลิ้นหัวใจรั่วมากขึ้นเรื่อยๆได้ (แต่เป็นส่วนน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะรั่วเล็กน้อยเท่านั้น)
สาเหตุและอุบัติการณ์
เชื่อว่าเป็นมาแต่กำเนิด แต่อาจไม่แสดงอาการทุกราย บางรายอาจตรวจพบในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ หรือ ตรวจไม่พบเลย จนกระทั่ง มีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้น แล้วก็ได้ ในต่างประเทศพบได้ประมาณร้อยละ 5 ของประชากร (บางรายงานให้ถึงร้อยละ 10-15 แล้วแต่เทคนิคการตรวจ) การศึกษาล่าสุดจากสหรัฐอเมริกา พบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้ พบน้อยกว่าที่เคย มีรายงานไว้ คือ ประมาณร้อยละ 2.4 เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากการศึกษาเก่าๆยังไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกัน ในการที่จะบอกว่าใครมีโรคนี้ สำหรับในประเทศไทยยังไม่เห็นรายงานที่จะบอกตัวเลขได้แน่นอน
อาการ, อาการแสดง และการตรวจพิเศษ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ อาจตรวจพบขณะตรวจสุขภาพทั่วไป ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีอาการใจสั่น ซึ่งเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ และ พบว่าผู้ป่วย MVP ส่วนหนึ่งมีอาการของโรคแพนิคร่วมด้วย ซึ่งความสัมพันธ์นี้ ไม่สามารถอธิบายด้วยโรคหัวใจ ในกรณีที่ลิ้นหัวใจรั่วมาก ก็จะมีอาการของหัวใจล้มเหลว เช่น เหนื่อย หอบ ขาบวม แต่เดิมเชื่อว่าผู้ป่วย MVP นี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาตเนื่องจากหลอดเลือดเลี้ยงสมองอุดตัน เดี๋ยวนี้ไม่เชื่อแล้ว ข้อมูลปัจจุบันบ่งชี้ว่าผลแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโรคลิ้นหัวใจยาว หรือ MVP นี้เกิดต่ำมาก ใกล้เคียงกับคนที่ไม่มีโรคนี้
ตรวจร่างกายฟังเสียงหัวใจ อาจได้ยินเสียงลิ้นหัวใจที่เรียกว่า Click และหากลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท จะได้ยินเสียงเลือดไหลย้อน ที่เรียกว่า เสียงฟู่ หรือ Murmur ปัญหาที่สำคัญคือ โรคนี้อาจจะไม่เป็นตลอดเวลา ดังนั้นการตรวจที่ปกติก็ไม่สามารถ ยืนยันว่าไม่เป็นร้อยเปอร์เซนต์
อัลตราซาวน์หัวใจ หรือ เรียกว่าเอคโคคาดิโอแกรม เป็นการตรวจที่สามารถเห็นลิ้นหัวใจได้ชัดเจน และให้การวินิจฉัย ได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามเป็นการตรวจที่ขึ้นกับแพทย์มาก เพราะไม่มีมาตรฐานว่าแค่ไหนถึงจะเรียกว่า “ลิ้นหัวใจยาวกว่าปกติ” หากเห็น ชัดเจนว่าลิ้นปิดเกยกันและมีลิ้นหัวใจรั่ว แพทย์โรคหัวใจทุกท่านก็คงเห็นพ้องกัน แต่ในรายที่เป็น น้อยๆ หรือเห็นเฉพาะบางมุม จะเป็นปัญหามาก เอาภาพนี้ให้แพทย์หลายท่านดูก็จะให้ความเห็นที่แตกต่างกันได้มากๆ ที่แย่คือโรคนี้อาจไม่เป็นตลอดเวลา ดังนั้นทำวันนี้เห็นชัด แต่วันหน้า อาจไม่ชัดเจนก็ได้ กระนั้นก็ตามการตรวจ Echocardiogram ก็ยังมีประโยชน์ในการดูขนาดห้องหัวใจ ดูว่าลิ้นหัวใจรั่วหรือไม่ มากน้อยเพียงไร เพื่อให้คำแนะนำต่อไป
การรักษา
ในกรณีที่ไม่มีอาการผิดปกติ ไม่จำเป็นต้องรักษา หากมีใจสั่นผิดปกติจากหัวใจเต้นผิดจังหวะก็รักษาเรื่องนั้น หากมีอาการของ โรคแพนิคก็รักษาโรคแพนิค การรักษาลิ้นหัวใจรั่วคือการผ่าตัดแก้ไข โดยอาจเป็นการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมลิ้น หรือการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซึ่งจะทำในกรณีที่ลิ้นหัวใจรั่วมากเท่านั้น
เนื่องจากลิ้นหัวใจพวกนี้อ่อนแอ เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ (ที่มีลิ้นหัวใจรั่ว) หากจะทำฟัน ถอนฟัน ผ่าตัดฟัน ขูดหินปูน หรือ ผ่าตัดใดๆก็ตาม (รวมทั้งการสัก เจาะหู เจาะลิ้นหรืออวัยวะต่างๆด้วย) จะต้องบอกแพทย์หรือทันตแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อให้ยาฆ่าเชื้อก่อนทำ เป็นการลดโอกาสการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ เพราะหากเกิดขึ้นแล้วจะเป็นเรื่องใหญ่มาก
ที่จริงแล้ว แม้จะมีปัญหาลิ้นหัวใจยาวกว่าปกติ หรือ รั่วเล็กน้อยก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ยังสามารถดำเนินชีวิต ได้อย่างเป็นปกติ ออกกำลังกายได้ตามปกติ เพียงแต่ควรได้รับคำแนะนำและการตรวจจากแพทย์บ้างเป็นครั้งคราว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น