โรคฉี่หนู
ทำไม่เรียกว่าโรคฉี่หนู
เดิมคิดว่าหนูเป็นตัวนำโรคนี้โดยเชื้อโรคจะสะสมอยู่มากในไต และปล่อยออกมาภายนอกตัวหนูทางปัสสาวะจึงเรียกว่าโรคฉี่หนู แต่ปัจจุบันนี้พบว่าสัตว์อื่นๆ เช่น สุนัข แมว โค กระบือ ม้า และสุกร ก็เป็นโรคและเป็นตัวนำโรคนี้ได้เช่นกัน ชื่อทางวิชาการของโรคนี้คือ เลบโตสไปโรซีส (Leptospirosis)
โรคในคน
การติดต่อ เชื้อออกจากปัสสาวะของสัตว์ต่างๆ ลงไปอยู่ในแหล่งน้ำ เมื่อน้ำหลากเชื้อก็จะแพร่กระจายไปกว้างขวางมากขึ้น หากน้ำที่มีเชื้อเข้าในร่างกายของคนทางปาก ตา จมูก หรือเข้าทางบาดแผลเมื่อเดินย่ำน้ำ คนก็จะติดโรคนี้ได้
ภาวะของโรค โรคนี้มีมานานแล้วโดยมีรายงานว่ามีผู้เป็นโรค 100-200 คนต่อปี แต่ในปี 2542-43 เกิดการระบาดอย่างรุนแรง คือในครึ่งปีแรกมีรายงานการเป็นโรคถึง4,000 คน
อาการของคนเป็นโรค ผู้ป่วยปวดเมื่อยคล้ายๆ ไข้หวัดซึ่งอาจจะทำให้วินิจฉัยโรคผิดได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็อาจจะทำให้เสียชีวิตได้
โรคในโค
การติดต่อ เช่นเดียวกับการติดต่อในคน คือสัตว์ที่ใช้แหล่งน้ำดื่มร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสานถ้าหากมีโคตัวใดเป็นโรค (โดยไม่แสดงอาการออกมาภายนอก) แล้วปัสสาวะลงในแหล่งน้ำนั้น เมื่อโคตัวอื่นๆ ดื่มน้ำที่มีเชื้อเข้าไปก็มีโอกาสติดโรคได้
การตรวจโรค เก็บน้ำเลือด (Serum) 1 ซีซี ใส่หลอดแก้ว แล้วแช่กระติกน้ำแข็งนำส่งตรวจ ณ สถานที่ต่อไปนี้
1. สถาบันสุขภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร 02 - 4470716 หรือ 02 – 5798908-14
2. โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน โทร 02 – 2469000 ติดต่อแผนก OCD
3. กรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข โทร 02 – 5890022 ต่อ 9416
สามารถทราบผลการตรวจประมาณ 48 ชม. หลังนำส่ง
อาการของโรค ส่วนใหญ่โคไม่แสดงอาการออกมาภายนอกแต่โคเหล่านั้นจะเป็นพานะนำโรคได้ อย่างไรก็ตามเชื้อโรคนี้มีหลายชนิด บางชนิดอาจจะทำให้เกิดแสดงอาการปัสสาวะมีสีแดง หรือโคเพศเมียมีการแท้งลูกในสุกรส่วนใหญ่มีการแท้งลูก
การรักษา ถึงแม้โรคนี้จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียซึ่งยาปฏิชีวนะน่าจะรักษาได้ แต่เนื่องจากเชื้อนี้เข้าไปอยู่ในเซลล์ของร่างกาย การเข้าทำลายเชื้อโดยยาปฏิชีวนะจึงเป็นไปด้วยความลำบาก จึงแนะนำให้ส่งโรงฆ่าสัตว์ (เนื้อสามารถนำไปบริโภคได้) อย่างไรก็ตาม ถ้าจะรักษาก็สามารถทำได้โดยให้ยาปฏิชีวนะ เช่น สเตรปโตมัยซิน หรือ เตตราซัยครีน หรือซัลฟา อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วัน แล้วเจาะเลือดตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ถ้าไม่พบเชื้อแสดงว่าการรักษาได้ผล
ที่มาของข้อมูล : ผู้ให้ข้อมูล รศ.น.สพ.ธวัชชัย ภู่อร่าม
ผู้สัมภาษณ์/เรียบเรียง ศ.ปรารถนา พฤกษะศรี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น